กสทช. จับมือ ADVANC-BBL ต่อยอดพัฒนา ยืนยันตัวตนด้วย Mobile ID

คาดทยอยเปิดทดลองใช้ไตรมาส 2/63

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. ได้พัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ “แทนบัตร” หรือ Mobile ID ร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ซึ่งเป็นบริษัทใน กลุ่มบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และธนาคารกรุงเทพ (BBL) ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จและมีการทดสอบทดลองขั้นต้นเรียบร้อยแล้ว

ต่อมาสำนักงาน กสทช. ได้จัดทำความร่วมมือเพิ่มเติมกับกรมการปกครอง กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานประกันสังคม เพื่อนำระบบ “แทนบัตร” หรือ Mobile ID ไปพัฒนาต่อและประยุกต์ใช้ภายใต้ภารกิจต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงาน และวันนี้สำนักงาน กสทช. พร้อมแล้วที่จะขยายการทำงานร่วมกันกับ AWN และธนาคารกรุงเทพ ทำการทดสอบทดลองอย่างต่อเนื่องในระยะ Sandbox เพื่อเตรียมขยายการทดสอบทดลองให้กับประชาชน

อีกทั้งยังขยายความร่วมมือเพิ่มเติมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ โดยคาดว่าจะสามารถทยอยเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ “แทนบัตร” หรือ “Mobile ID” กับบริการภาครัฐ และเอกชนต่าง ๆ ภายในไตรมาส 2 ของปี 2563 ได้แก่ กรมสรรพากร บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด นอกจากนั้น สำนักงาน กสทช. จะร่วมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เรื่องการพัฒนามาตรฐานการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยระบบ Digital ID ที่ควรมีการเชื่อมโยงกันระหว่างอุตสาหกรรมการธนาคารและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต่อไป

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า สำหรับการเข้าร่วมพัฒนาโครงการ Mobile ID ระยะทดสอบ ในครั้งนี้ ทางกรมสรรพากรจะนำระบบมาใช้สำหรับการพัฒนาการให้บริการประชาชนในด้านต่าง ๆ เช่น การยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ซึ่งต่อไปในอนาคตกรมสรรพากรจะต่อยอดพัฒนานำระบบ Mobile ID ไปใช้ในการบริการอื่น ๆ ต่อไป เช่น ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ และการพิมพ์ใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น

พันเอกสรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) กล่าวว่า CAT เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนา Digital ID Platform ของประเทศไทยโดย Mobile ID ถือเป็นหนึ่งทางเลือกที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมควรร่วมกันพัฒนาเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ ในการให้บริการกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ การร่วมโครงการนี้ CAT จะสามารถต่อยอดพัฒนาให้ลูกค้า CAT สามารถใช้บริการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ด้วย

การเข้าร่วมโครงการของ CAT ครั้งนี้ CAT มีความเชื่อว่าจะสามารถนำไปพัฒนาการให้บริการของ CAT ในช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้นโดยเฉพาะการบริการที่จำเป็นกับพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลของผู้ใช้บริการ เป็นการซื้อ SIM Card การย้ายค่ายเบอร์เดิม โดยไม่ต้องเดินทางไปที่ศูนย์บริการ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มจุดให้บริการได้ทั่วประเทศโดยใช้ช่องทางออนไลน์

นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร ADVANC ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการขยายบทบาทสู่การเป็น Digital Platform ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดให้ทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องเชื่อมต่อผ่าน Digital Platform และทำงานร่วมกันในลักษณะของ Ecosystem เพื่อก่อให้เกิดพลังในการขยายขีดความสามารถสร้างสรรค์ Innovation หรือบริการ Digital ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

เช่นเดียวกับโครงการ Mobile ID ระยะทดสอบ ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ สำนักงาน กสทช. ที่จะร่วมกันพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องในการให้บริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์กับลูกค้าของเอไอเอส

โดยจะทำการทดสอบทดลองใน Sandbox กับธนาคารกรุงเทพ รวมทั้งทางเอไอเอสมีความยินดีที่จะพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วย Mobile ID ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประชาชน ให้มีความสะดวก ปลอดภัย และเป็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนให้ใช้ดิจิทัลไอดีในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศอีกด้วย

นายกึกก้อง รักเผ่าพันธุ์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า โครงการ Mobile ID ภายใต้ความร่วมมือในการพัฒนาระบบร่วมกับสำนักงาน กสทช. และองค์กรภาครัฐและเอกชน ในส่วนของธนาคารกรุงเทพจะต่อยอดการพัฒนาบริการร่วมกับพันธมิตรเพิ่มขึ้น ผ่านช่องทางสาขาธนาคาร และบริการ online ของธนาคาร เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบสนองต่อพฤติกรรมและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของลูกค้า โดยคำนึงถึงมิติด้านความปลอดภัย และความถูกต้องของข้อมูลลูกค้าผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ ซึ่งครอบคลุมทั้งลูกค้าบุคคล และลูกค้าธุรกิจของธนาคาร

นายจุลพงษ์ ลิมปสุธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจบริการดิจิทัล บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทกำลังเร่งพัฒนาการให้บริการรูปแบบใหม่ ๆ และนำนวัตกรรมใหม่มาให้บริการประชาชน ประกอบกับการนำระบบ Mobile ID มาใช้ โดยเฉพาะการใช้จุดเด่นในเรื่องการพิสูจน์และยืนยันตนของลูกค้า และการแสดงข้อมูลการเป็นเจ้าของเลขหมายมือถือที่ถูกต้อง จะสามารถนำมายกระดับการให้บริการกับประชาชนได้ดีขึ้น

บริษัทมีจุดให้บริการ 1,500 สาขาทั่วประเทศไทย ซึ่งบริษัทเชื่อมั่นว่าจะสามารถสนับสนุนการทดสอบทดลองโครงการ Mobile ID ได้อย่างดี และบริษัทพร้อมที่จะทำความร่วมมือทางธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการนี้เพื่อการให้บริการกับประชาชน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มี.ค. 63)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top