บอร์ด รฟม. ขยายเวลาลดค่าโดยสารสายสีม่วง 3 เดือน

เตรียมเซ็นส่วนต่อขยายสายสีชมพูเข้าเมืองทองธานี

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ รฟม วันนี้ (11 มี.ค.)ว่า ที่ประชุมเห็นชอบขยายเวลามาตรการลดค่าครองชีพในการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง เหลือ 14-20 บาท ออกไปอีกเป็นเวลา 3 เดือน โดยจะไปสิ้นสุดปลายเดือน มิ.ย. 63 ซึ่งประเมินว่าจะสูญเสียรายได้ตลอดระยะเวลา 3 เดือนประมาณ 50 ล้านบาท

สำหรับการลดค่าโดยสารช่วงแรกตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.62 จะครบกำหนดปลายเดือน มี.ค.63 นั้น จำนวนผู้โดยสารสายสีม่วงเฉลี่ยอยู่ที่ 62,000 คนต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 10% ต่ำกว่าเป้าหมายว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ส่วนสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ผู้โดยสารเฉลี่ยที่ 310,000 คนต่อวัน ซึ่งลดลงจากปกติที่มี 350,000 คนต่อวัน ส่วนสีน้ำเงินต่อขยาย มีผู้โดยสาร 70,000 ต่อวัน

สาเหตุที่ทำให้ผู้โดยสารสีม่วงเพิ่มต่ำกว่าคาดการณ์ ขณะที่สีน้ำเงินผู้โดยสารลดลงจากปกติ เป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอม ซึ่งปกติจะลดลงเฉลี่ย 5% อยู่แล้ว ดังนั้น ตัวเลขในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรายได้ที่หายไปนั้น รฟม.จะนำรายได้จากส่วนแบ่งสัมปทานสายสีน้ำเงิน มาอุดหนุน ซึ่งประเมินว่ายังมีเพียงพอตลอดการลดค่าโดยสารที่ต่ออายุอีก 3 เดือน โดยขณะนี้ รฟม.มีสภาพคล่องประมาณ 400-500 ล้านบาทต่อปี แม้จะน้อยกว่าช่วงปกติที่มีสภาพคล่องประมาณ 600-700 ล้านบาท แต่ไม่มีปัญหาในการบริหารจัดการในภาพรวม

นอกจากนี้ คณะกรรมการ รฟม.ยังเห็นชอบร่างสัญญาโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) จากสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี กับบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) โดยหลังจากนี้จะนำเสนอคณะกรรมการกำกับโครงการฯ ตามมาตรา 43 และอัยการสูงสุดและกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอคณะกรรมการ PPP และคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบ คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาเพิ่มเติมได้ในเดือน ก.ค.-ส.ค.63 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้หลังจากเปิดให้บริการสายสีชมพูเส้นทางสายหลักแล้ว 2 ปีครึ่ง และช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้สายสีชมพูอีก 10%

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) ส่วนต่อขยายจากสถานีแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน นั้น ผู้ว่าฯรฟม.กล่าวว่าอยู่ระหว่างศึกษาปรับแก้ตัวเลขผลกระทบที่มีต่อสัมปทานสายสีน้ำเงิน ซึ่งล่าสุดทาง บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานสายสีเหลือง ระบุว่าการเชื่อมต่อเดินทางจากสายสีเหลืองไปยังสายสีเขียว (บีทีเอส) นั้นจะมีค่าแรกเข้า แม้ว่าบีทีเอสจะเป็นผู้ถือหุ้นใน EBM แต่ถือว่าเป็นคนละนิติบุคคล ซึ่งค่าแรกเข้ามีผลต่อการตัดสินใจของผู้โดยสารที่จะเปลี่ยนจากสีน้ำเงินมาใช้สีเหลืองน้อยลง ทำให้จากเดิมที่ปรึกษารฟม.คาดว่าจะทำให้ผู้โดยสารสายสีน้ำเงินอาจจะลดลงไม่ถึง 9,000 คน/วัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มี.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top