รฟท.คาดประมูลส่วนต่อขยายสายสีแดง 3 สัญญากว่า 2 หมื่นลบ. มิ.ย. นี้

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คาดว่า รฟท.จะเปิดประมูลโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 ช่วงพร้อมกันในเดือน มิ.ย.63

ซึ่งแบ่งเป็น 3 สัญญา ได้แก่ ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลค่า 5,970 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช มูลค่า 5,980 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา มูลค่า 9,670 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ผู้รับเหมาภายในสิ้นปี 63

สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และ บางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่มีมูลค่าโครงการ 1.1 แสนล้านบาท คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 64 โดยคาดการณ์ผู้โดยสารที่ใช้บริการสถานีกลางบางซื่อในปี 64 จำนวน 208,000 คน-เที่ยว/วัน และเพิ่มเป็น 396,000 คน-เที่ยว/วัน ในปี 75 ซึ่งจะส่งผลให้สถานีกลางบางซื่อกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางแห่งใหม่ของประเทศ รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยรถไฟฟ้าที่รองรับการเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง มีจำนวน 130 ตู้ แบ่งเป็นขบวนละ 4 ตู้ 10 ขบวน และ ขบวนละ 6 ตู้ 15 ขบวน โดยปัจจุบันมีรถไฟฟ้ามาถึงไทยแล้ว 24 ตู้ 5 ขบวน เป็นขบวนละ 6 ตู้ 2 ขบวน และขบวนละ 4 ตู้ 3 ขบวน และคาดว่าจะส่งมอบรถไฟฟ้าได้ทันภายในสิ้นปีนี้ เลื่อนจากแผนเดิมที่กำหนดไว้เดือนมิ.ย.63 ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มทดสอบการเดินรถในช่วงครึ่งหลังปีนี้ โดยจะมีค่าโดยสาร 15-50 บาท/คน/เที่ยว

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมการจัดตั้ง บริษัทเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยจะขออนุมัติเงินกู้ 3,000 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนบริษัทฯ และจัดสรรบุคลากร ในช่วงแรก 773 อัตรา โดยมาจากการโอนย้ายพนักงานจาก บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด พนักงานจากการรถไฟแห่งประเทศไทย และเปิดรับสมัครพนักงานใหม่

ส่วนทางเลือกในการบริหารสถานี รฟท. มีแนวทางเลือกอยู่หลากหลายแนวทาง เช่น รฟท. ดำเนินการบริหารงานสถานีด้วยตนเองทั้งหมด จัดตั้งบริษัทลูกให้ดำเนินการแทน เชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน จัดจ้างเอกชนเข้ามาบริหาร หรือให้สิทธิเอกชนเป็นผู้ดำเนินการและจ่ายผลตอบแทน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาทางเลือกที่สอดคล้องและเหมาะสมที่สุด

นายวราวุฒิ กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้จะเสนอคณะกรรมการ รฟท. โดยจะยืนยันว่า รฟท.จะจัดตั้งบริษัทลูกมาเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดงเอง หลังจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ให้ทบทวนและแนะให้ว่าจ้างเอกชนรูปแบบ PPP

นอกจากนี้ยังเสนอแนวทางที่จะหาแนวทางเอกชนเข้ามาบริหารสถานีกลางบางซื่อและอีก 13 สถานี และการก่อสร้างสถานีชั่วคราวที่สถานีกลางบางซื่อเพื่อรองรับรถไฟระยะไกล มูลค่าลงทุน 300 ล้านบาทเพราะสภาพรถไฟปัจจุบันมีการใช้ดีเซลและเป็นรถเก่าที่จะก่อมลภาวะได้หากเข้าจอดชั้น 2 ของสถานี รอให้ขบวนรถไฟใหม่เข้ามา ซึ่งโครงการซื้อรถไฟใหม่ 184 ตู้ที่รองรับทั้งดีเซลและไฟฟ้า วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาทอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)และเตรียมเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรีต่อไป

ปัจจุบันการก่อสร้างโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่มี 3 สัญญา แต่ละสัญญา มีความก้าวหน้า ดังนี้

สัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง ประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อและสถานีจตุจักร ทางรถไฟยกระดับ จาก กม.6+000 ถึง กม.12+201.700 ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าชานเมือง ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล ย่านจอดรถไฟ และอาคารอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมการเดินรถ ตลอดจนถนน สะพานยกระดับเข้า-ออกสถานี และระบบระบายน้ำ ซึ่งมีความคืบหน้าคิดเป็น 98.62 %

สัญญาที่ 2 เป็นงานโยธาสำหรับทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต ประกอบด้วย สถานี 8 สถานี ทางรถไฟยกระดับและทางรถไฟระดับดิน ถนนเลียบทางรถไฟ สะพานกลับรถ สะพานข้ามทางรถไฟ และระบบระบายน้ำ ซึ่งการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์แล้ว

และสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟ สำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีความก้าวหน้าของงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จคิดเป็น 73.53%

นายวรวุฒิ กล่าวว่า สถานีกลางบางซื่อเป็นโครงการก่อสร้างสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย เพื่อทดแทนสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นสถานีรถไฟต้นทางของรถไฟวิ่งทางไกล รวมถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูง และยังเป็นสถานีศูนย์กลางของรถไฟฟ้าสายสีแดงทั้งสายสีแดงเข้มและสีแดงอ่อน เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของประเทศไทย และยังเป็นสถานีรถไฟใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ ปี 56 พร้อมเปิดใช้งานในปี 64

สถานีมีความยาว 596.6 เมตร ความกว้าง 244 เมตร ความสูง 43 เมตร พื้นที่ใช้สอยรวม 274,192 ตารางเมตร อาคารมีทั้งหมด 3 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่สำหรับห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟที่ใช้รางขนาด 1.00 เมตร ประกอบด้วยรถไฟทางไกล 8 ชานชาลาและ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา

และชั้นที่ 3 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟที่ใช้รางขนาด 1.435 เมตร ประกอบด้วย รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายใต้ จำนวน 4 ชานชาลา รวมทั้งสิ้น 12 ชานชาลา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 มี.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top