ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ก.พ.63 ต่ำสุดรอบ 21 เดือน กังวลเศรษฐกิจ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ระดับ 90.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 92.2 ในเดือน ม.ค.63 และถือว่าค่าดัชนีฯ ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน นับตั้งแต่ พ.ค. 61

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า มีสาเหตุมาจากความกังวลต่อการชะลอตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อที่ซบเซาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การดำเนินกิจการประสบปัญหาด้านการผลิต การจำหน่าย รวมทั้งการขนส่งสินค้าและการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศจีนที่มีความล่าช้า

ขณะที่ปัญหาภัยแล้งก็ส่งผลกระทบต่อปริมาณวัตถุดิบการเกษตรลดลง นอกจากนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างด้วย

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 98.1 โดยลดลงจาก 99.4 ในเดือนม.ค.63 โดยค่าดัชนีต่ำที่สุดในรอบ 45 เดือน นับตั้งแต่ พ.ค.59 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มรุนแรงและกระจายไปทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป โดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอตัว ประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่าย ส่งผลให้การบริโภคสินค้าอุตสาหกรรมลดลง

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ส.อ.ท.เสนอให้ภาครัฐเพิ่มมาตรการและสร้างความเชื่อมั่นในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น และขอให้ภาครัฐออกมาตรการเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการในระยะสั้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น มาตรการทางด้านภาษี

นายสุพันธุ์ กล่าวยอมรับว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รุนแรงขึ้น โอกาสจะเกิดการปิดสถานประกอบการมากขึ้น เพราะฉะนั้นนอกจากรัฐบาลต้องเตรียมตัวเรื่องทางการแพทย์แล้ว ยังต้องเตรียมตัวเรื่องไฟแนนซ์สำหรับประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการ ซึ่งแม้สถานการณ์ lay off ในภาคอุตสาหกรรมยังไม่ค่อยเห็น

แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ ผู้ประกอบการพยายามลดต้นทุน ลดการทำโอที ลดเงินเดือน ลดสวัสดิการที่ไม่จำเป็น และถ้าอนาคตจำเป็นถึงขั้นต้องปิดเมืองอาจจะต้องมีการเจรจาเรื่องหยุดงานแบบไม่จ่ายเงินเดือน (leave without pay) ว่าจะทำอย่างไร หรือทำงานจากที่บ้านแต่ได้เงินเดือนน้อยลงจะยินยอมหรือไม่

สถานการณ์ขณะนี้น่าเป็นห่วงว่าอาจจะมีการเลิกจ้างพนักงานชั่วคราว ลดการจ้างงานนอกเวลา (โอที) โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งจำเป็นจะต้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐในการเลื่อนการชำระเงินประกันสังคม มีงบประมาณสำหรับการดูแลพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง

“รัฐบาลจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวในเรื่องของมาตรการเยียวยาในการช่วยเหลือเรื่องไฟแนนซ์ ซึ่งวันนี้รัฐบาลมี Soft Loan 1.5 แสนล้านบาทออกมาแต่เมื่อถึงเวลา Soft Loan นี้ก็ไม่สามารถปล่อยกู้ได้เพราะเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นไม่มี จึงอยากแนะนำว่ารัฐบาลอาจต้องตั้งกองทุนรับมือสถานการณ์โควิด-19 เพื่อสำหรับการช่วยเหลือเยียวยาในการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ภาคเอกชนโดยตรงได้จริง รวมทั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนตกงานเดือนละ 1 หมื่นบาทเพื่อไปเรียนรู้เพิ่มทักษะ (Up Skill) ให้แก่ตัวเองเผื่อในอนาคตมีโอกาสได้กลับมาทำงานที่มีคุณภาพมากขึ้น”

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า กองทุนดังกล่าวจะเป็นกองเดียวกันหรือแบ่งเป็น 2 กองก็ได้ แต่ต้องมีขนาดใหญ่รวมกันประมาณ 1 แสนล้านบาท มีลักษณะเป็นสินเชื่อที่คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ระยะเวลาผ่อนชำระ 6 เดือน-1 ปี สำหรับ SMEs ให้รายละ 20 ล้านบาท ผ่านช่องทางธนาคารพาณิชย์หรือของรัฐ เพื่อทำหน้าที่คัดกรองแต่ไม่ต้องใช้หลักเกณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งรัฐสามารถใช้วิธีการออกพันธบัตรเพื่อหาเงินวมาใช้

“เรื่องนี้เป็นแนวคิดที่ยังไม่ได้เสนอไปยังรองนายกฯสมคิด เพราะตอนแรกคิดว่า Soft Loan น่าจะช่วยได้แต่เอาเข้าจริงๆ ติดเงื่อนไขต่างๆของบรรดาแบงก์พาณิชย์ทำให้ผู้ประกอบการที่มีปัญหาและติดขัดเรื่องเงินทุนหมุนเวียน เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว จะได้ไม่ต้องปลดคนงานหรือนำเงินไปปรับปรุงกิจการให้ดีขึ้นเผื่อในระยะ 3-4 เดือนข้างหน้าบรรยากาศสถานการณ์ดีขึ้นนักท่องเที่ยวอาจจะกลับมาท่องเที่ยว…”

นายสุพันธุ์ กล่าว

นอกจากนี้ เอกชนยังได้เสนอให้ภาครัฐเพิ่มมาตรการความเชื่อมั่นในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์แย่ลงถึงขั้นต้องมีการปิดประเทศ ปิดการเคลื่อนย้าย แต่การบริโภคจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป อุตสาหกรรมการผลิตยังต้องมีอยู่เพื่อส่งมอบให้ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ โรงงานต้องเปิด หรือถ้าการแพร่กระจายเข้าสู่ระยะที่ 3 จนถึงขั้นต้องปิดเมืองว่า น่าจะปิดเฉพาะบางส่วน แต่ในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชนยังต้องเดินหน้า เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งหลายโรงงานไม่ได้ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีกำลังผลิตและยอดขายถึง 3 ล้านล้านบาทต่อปี เฉพาะขายในประเทศ 2 ล้านล้านบาท ส่งออก 1 ล้านล้านบาท ดังนั้น หากเกิดปัญหาก็สามารถทยอยลดการส่งออกลงได้ ที่สำคัญตอนนี้อุตสาหกรรมใช้กำลังการเพียง 50-70% ยังมีกำลังผลิตเหลืออีกมาก เราจึงจำเป็นต้องมีมาตรการออกมาเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมป้องกันและระวังตัว

“อย่างไรก็ตามผมมองว่าเหตุการณ์นี้ไม่เหมือนน้ำท่วม เพราะน้ำท่วมทำให้การผลิตหยุดหรือส่งออกไม่ได้” นายสุพันธุ์ กล่าว

ด้านนายเวทิต โชควัฒนา รองประธาน ส.อ.ท. ยืนยันว่า สินค้าอาหารจะไม่ขาดแคลน กระบวนการผลิต กระบวนการโลจิสติกส์จะไม่สะดุดแน่นอน แม้ว่าจะเกิดกรณีมีการติดเชื้อภายในโรงงาน ก็ยังมีมาตรการรองรับสามารถทำให้กระบวนการผลิตเดินหน้าต่อไปได้

“อยากให้ความมั่นใจแก่ประชาชนว่าสินค้าอาหารจะไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอนกระบวนการโลจิสติกส์ต่างๆไม่มีปัญหาใดๆทั้งสิ้นเพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่เหตุการณ์น้ำท่วมการเคลื่อนตัวของสินค้าสามารถดำเนินการได้ตามปกติ บริษัทผู้ผลิต ผู้ค้าปลีก ศูนย์กระจายสินค้าเชื่อมต่อกันปกติ เพราะฉะนั้นกระบวนการเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคจะไม่ขาดแคลนในช่วงที่ต้องรับมือกับสถานการณ์โควิด-19” นายเวทิต กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มี.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top