เงินบาทเปิด 32.80/86 ต่อดอลลาร์ แนวโน้มอ่อนค่า

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 32.80/86 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเย็นวันศุกร์ที่ปิดตลาดที่ระดับ 32.50 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทวันนี้ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าได้ต่อ และมีโอกาสจะไปแตะที่ระดับ 33.00 บาท/ดอลลาร์ได้ เนื่องจากยังมีเงินทุนไหลออกจากในส่วนของการขายกองทุนต่างๆ

“มองวันนี้ บาทคงอ่อนต่อ มีแนวโน้มไปแตะที่ 33 บาทได้ เพราะยังมีเงินไหลออก”

นักบริหารเงินระบุ

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.75 – 33.00 บาท/ดอลลาร์

THAI BAHT FIX 3M (20 มี.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.66963% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.67112%

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 110.30 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ 110.23 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0700 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ 1.0719 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 32.5230 บาท/ดอลลาร์
  • สธ.แถลงผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่พุ่งพรวด 188 ราย กลุ่มสนามมวย 21 ราย ผับ บาร์ 5 ราย สัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า
    ทยอยป่วยอีก 37 ราย ยอดสะสม 599 ราย
  • 3 หน่วยงานเศรษฐกิจ “แบงก์ชาติ-คลัง-ก.ล.ต.” แถลงด่วน 3 มาตรการอัดสภาพคล่อง สกัดนักลงทุนแห่ไถ่ถอน พร้อมระดมแสนล้าน ตั้งกองทุนเพิ่มสภาพคล่องต่ออายุตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดี จากเดิมที่เข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลแล้วกว่าแสนบ้านบาท วันนี้ (23 มี.ค.) เข้าบอร์ดพิจารณาอนุมัติมาตรการ และมีผลดำเนินการได้วันอังคารที่ 24 มี.ค. ทันที
  • ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยมาตรการลดผลกระทบจากโควิด-19 ว่า ธปท.มีแผนที่จะช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมาเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลกว่าหนึ่งแสนล้านบาทในช่วงวันที่ 13-20 มีนาคม 2563 พร้อมยกเลิกการออกพันธบัตรของธปท.
  • รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีลูกหนี้เข้ามาขอปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1,000 ราย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย และผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีสัญญาณเริ่มลดกำลังการผลิตสินค้า ยังทำให้ความต้องการสินเชื่อลดลงด้วย โดยธนาคารได้มีมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ แก่ลูกหนี้ทั้งกลุ่มบุคคล ที่อยู่อาศัย บัตรเครดิต หรือภาคธุรกิจที่เลื่อนชำระหนี้สูงสุดถึง 1 ปี เพื่อบรรเทาความ
    เดือดร้อนและป้องกันการเกิดหนี้เสียในระบบ
  • ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ททท.ได้รับการแจ้งอย่างไม่เป็นทางการจากนายวิชิตประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือแอตต้า ซึ่งได้แจ้งข่าวดีว่า ล่าสุดสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวในประเทศจีน เริ่มกลับมาปรับตัวดีขึ้นหลังรัฐบาลจีนประกาศให้ชาวจีนสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้แล้ว โดยเริ่มต้นจากการท่องเที่ยวภายในมณฑลก่อน คือ มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลเจียงซู และคาดว่า ภายในเดือนเม.ย.นี้ จะเปิดให้ชาวจีนเดินทางท่องเที่ยวได้ทั่วประเทศ
  • นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้กล่าวต่อรัฐสภาญี่ปุ่นในวันนี้ว่า การจัดมหกรรมกีฬา “โตเกียวโอลิมปิก” อาจถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก
  • เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนเปิดเผยในวันนี้ว่า จีนจะลดค่าธรรมเนียมขนานใหญ่เพื่อกระตุ้นการลงทุนในภาคเอกชน และเร่งการพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคใหม่ๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
  • ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ เตือนว่า อัตราว่างงานในสหรัฐอาจพุ่งขึ้นแตะระดับ 30% ในไตรมาส 2 ปีนี้ อันเนื่องมาจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกในขณะนี้
  • วุฒิสมาชิกสหรัฐยังไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ซึ่งครอบคลุมถึงการมอบเงินให้ประชาชนรายละ 1,200 ดอลลาร์ โดยร่างมาตรการดังกล่าวนำเสนอโดยนายมิตช์ แมคคอนเนล ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน
  • หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ขององค์การอาหารและเกษตร (FAO) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดขององค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่า มาตรการปิดเมืองและการแห่ซื้ออาหารเพื่อกักตุนอย่างตื่นตระหนก อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อด้านอาหารทั่วโลก โดยจะทำให้ราคาอาหารแพงขึ้น แม้ว่ายังคงมีธัญพืชและเมล็ดพืชให้น้ำมันปริมาณมากในประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ก็ตาม
  • ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐที่จะประกาศในสัปดาห์ เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นและภาคบริการขั้นต้นเดือนมี.ค.จากมาร์กิต, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ., ดัชนีราคาบ้านเดือนม.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2562 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค. เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มี.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top