รัฐบาลเตรียมมาตรการเยียวยาลูกจ้างที่ได้ผลกระทบจากโควิด-19

นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้รับการช่วยเหลือจากจีนแล้ว โดยจะจัดส่งชุดตรวจโรค 2 หมื่นชุด หน้ากากอนามัย 1 แสนชิ้น หน้ากาก N95 จำนวน 2 หมื่นชิ้น ชุดป้องกัน 2 หมื่นชุด และในวันที่ 24 มี.ค.63 กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ภาพ: thaigov.go.th)

ส่วนกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยงตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.-12 เม.ย.63 จนส่งผลให้มีผู้เดินทางไปต่างจังหวัดเป็นจำนวนมากนั้น รัฐบาลไม่สามารถห้ามเดินทางได้ แต่มีมาตรการรองรับโดยคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทำแผนระดับอำเภอ หมู่บ้าน ตำบล ให้ผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาแยกตัวสังเกตอาการ 14 วัน

หากผู้ที่ยังไม่ได้เดินทางกลับภูมิลำเนาก็ขอความร่วมมือให้อยู่ กทม.และปริมณฑลไปก่อน เพราะหากกลับไปบางครั้งอาจไม่ทราบตัวเองว่าติดเชื้อ อาจเป็นพาหะไปยังญาติพี่น้องได้ ถ้ายังอยู่ กทม.และปริมณฑลได้ ทางรัฐบาลอยากให้ช่วยอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมครม. วันพรุ่งนี้ กระทรวงการคลังเตรียมเสนอมาตรการดูแลประชาชนและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานที่ทำงานทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เข้าสู่การพิจารณา ซึ่งถือเป็นมาตรการระยะที่ 2 และจำเป็นต้องมีการเสนอระยะที่ 3 ต่อเนื่องไปด้วย

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ภาพ: thaigov.go.th)

นอกจากมาตรการเยียวยาแล้ว นายกรัฐมนตรีได้กำชับทุกหน่วยงานเตรียมแผนฟื้นฟูเมื่อสถานการณ์ใกล้เคียงปกติ จะมีมาตรการออกมาเป็นระลอกเพื่อดูแลทุกกลุ่ม ให้ครอบคลุมทุกจังหวัด

ขณะที่ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า ในฐานะที่ต่อสู้กับโรคระบาดมา 20 ปี ครั้งนี้เป็นครั้งที่โรคระบาดรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา จึงอยากเห็นความร่วมมือร่วมใจเราถึงจะสามารถบรรเทาได้ ตอนนี้ไม่มีทางกำจัดออกไปแล้วเพราะแพร่ระบาดไปทั่วโลก วิธีบรรเทาคือทำตามมาตรการที่ออกมา

นพ.ทวี ยอมรับว่า โรคโควิด-19 สามารถแพร่เชื้อทางอากาศได้ ซึ่งละอองขนาดใหญ่ที่ออกจากผู้ติดเชื้อจะกระจาย 1-2 เมตร แต่มีละอองขนาดเล็กที่ไปไกลถึง 10 เมตร แต่จะแพร่เชื้อทางอากาศไม่มาก ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น ผู้ที่ไอแรงมาก มีอาการหอบจะแนะนำให้ใช้หน้ากาก N 95 แต่ละอองขนาดใหญ่นั้น ใช้หน้ากากอนามัยปกติ และการเว้นระยะห่างทางสังคมก็สามารถช่วยได้

ทั้งนี้ ได้ให้คำแนะนำประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนานั้น อยากให้ทยอยกลับ อย่าเดินทางเป็นกลุ่มใหญ่มาก เพราะโอกาสแพร่เชื้อค่อนข้างสูง เมื่อไปถึงบ้านควรล้างมือเป็นอันดับแรก อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า ใส่หน้ากาก แล้วค่อยมาทักทายครอบครัว รวมทั้งควรกักตัวเอง 14 วันอย่างเคร่งครัด ต้องระวังตัวเองไม่ให้ไปแพร่เชื้อให้คนอื่น

นพ.ทวี กล่าวว่า การไม่ให้คนเคลื่อนย้ายคือมาตรการที่ดีที่สุด แต่บางประเทศบอกว่าไม่ต้องทำอะไรเลย ปล่อยให้ติดเชื้อไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นเช่นนั้นมีการประเมินว่า ประเทศอังกฤษจะมีผู้เสียชีวิตถึง 5 แสนคน สหรัฐอเมริกา 2 ล้านคน มาตรการที่ 2 คือ กดให้ลง ด้วยวิธีทำให้บรรเทา หรือชะลอการแพร่ระบาด ซึ่งไทยกำลังใช้วิธีนี้อยู่ ซึ่งหากมีการปิดเมือง ปิดประเทศเลย 2 เดือน ลดการติดเชื้อได้ 70 % และมาตรการที่ 3 คือ ไม่ให้ไปไหนเลย ปิดหมดทุกอย่าง ยกเว้นโรงพยาบาล ร้านอาหาร ซึ่งจะลดการติดเชื้อให้ได้ 95 % ซึ่งต้องใช้เวลา 5 เดือน วันนี้ไทยใช้มาตรการที่ 2 โดยประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกาก็ใช้วิธีนี้อยู่

ส่วนจะมีการประกาศเคอร์ฟิวหรือไม่ นพ.ทวี กล่าวว่า ตนเองไม่สามารถตอบได้ เพราะเป็นฝ่ายการแพทย์ แต่เคอร์ฟิวเป็นการห้ามคนออกนอกบ้าน ถือว่าเป็นมาตรการที่แรงขึ้นถ้าประชาชนไม่มีวินัย ไม่ฟังคำสั่ง ซึ่งตนเองคิดว่าน่าจะนำออกมาใช้ ซึ่งหากมีการประกาศคอร์ฟิว จะไม่ใช่การขอร้อง แต่เป็นมาตรการทางกฏหมาย ซึ่งทางการแพทย์ไม่ชอบที่จะใช้มาตการทางกฏหมายเลย เราอยากให้มีการรับผิดชอบต่อส่วนรวม ต่อครอบครัวก่อนที่จะใช้มาตรการทางกฏหมายมาบังคับ

สำหรับสถานการณ์ที่จำเป็นต้องประกาศเคอร์ฟิวนั้นจะต้องดูที่อัตราเร่ง หรืออัตราการกระจายของการติดเชื้อ หากกระจายไปถึงชนบทก็มีความกังวลว่าจะดูแลลำบาก เนื่องจากชนบทการป้องกันจะหละหลวมและขาดความรู้มากกว่าคนในเมือง แต่ต้องยอมรับว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ที่ไม่ได้มีใครรู้จริงหรือเชี่ยวชาญด้านข้อมูล แต่เราสามารถนำตัวอย่างจากจีนที่มีประสบการณ์การแพร่ระบาดก่อนไทยมาเป็นแนวทางพิจารณาได้ และหากมีการคิดค้นวัคซีนได้ ถือเป็นคำตอบสุดท้ายของจุดจบการแพร่ระบาดนี้ ซึ่งต้องดูว่าประเทศใดจะผลิตได้และจะมีเหลือเพียงพอมาถึงไทยหรือไม่

“จริงๆรัฐบาลรู้อยู่แล้ว เรารู้ตั้งนานแล้ว แต่มาตรการของคนไทยถ้าแรงเกินไปมันต่อต้านเยอะมาก ต่อต้านทันที จากนั้นต่อไปจะพูดกันไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นเราต้องปล่อยมาตรการจากเบาไปหาหนัก ซึ่งหากเป็นแบบประเทศอิตาลีก็คงต้องมีการใช้มาตรการระยะที่ 3 แต่ถ้าร่วมมือดีๆไม่ถึงเขา ค่อนข้างแน่ใจว่าไม่ถึงเขา” นพ.ทวี กล่าว

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ได้เตรียมความพร้อมให้บริการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยยืนยันว่า เงินสดมีเพียงพอให้เบิกถอนไปใช้จ่ายได้ และมีตู้เอทีเอ็มทั่วประเทศ พร้อมให้บริการ 54,000 ตู้ และมีสาขาธนาคาร 6,800 กว่าแห่ง ซึ่งยังเปิดให้บริการตามปกติ

นอกจากนี้ยังมีช่องทางอิเลกโทรนิคส์ อินเตอร์เนตแบงค์กิ้ง โมบายแบงค์กิ้ง ส่วนบริการเดบิตการ์ด ก็ใช้ได้ตามปกติ ทั้งนี้เข้าใจว่าปัจจุบันคนพยายามหลีกเลี่ยงการจับธนบัตรหรือใช้เงินสด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด จึงแนะนำให้ทำธุรกรรมอินเตอร์เนตแบงค์กิ้ง การโอนเงินพ้อมเพย์ เป็นต้น ซึ่งในขณะนี้มีการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นถึง 10 ล้านรายการต่อวัน

ด้านนายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติวางกรอบให้มีทีมค้นหาและเฝ้าระวังระดับตำบล สำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจาก กทม. โดยมีกำนัน แพทย์ผู้ช่วย คณะกรรมการหมู่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลระดับตำบลกระจายไปทุกหมู่บ้าน เพื่อจัดทำข้อมูลคนที่เดินทางกลับ รวมถึงให้ความรู้ความเข้าใจว่าควรแยกตัวเฝ้าสังเกตอาการ 14 วัน

หากพบว่าใครมีอาการน่าสงสัย เช่น มีไข้ ต้องรีบแจ้งเพื่อให้ สธ.ดำเนินการทางการแพทย์ นอกจากนี้เรามีมาตรการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยง โดยมี อสม.ไปให้คำแนะนำเป็นพิเศษ ยืนยันทุกจังหวัดมีความพร้อมรองรับประชาชนเดินทางกลับจากภูมิลำเนา ทีมเหล่านี้มีการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรค หากใครไม่ดำเนินการกักตัวหรือฝ่าฝืน จะมีความผิด โทษทั้งจำทั้งปรับ สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มี.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top