กบง.ลดราคา NGV รถโดยสารสาธารณะ 3 บาท/กก.เป็นเวลา 3 เดือน

คาด PTT อัดงบราว 300 ล้านบาทเข้าดูแล

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในวันนี้ เห็นชอบให้ปรับราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) สำหรับรถโดยสารสาธารณะ ลดลง 3 บาท/กิโลกรัม (กก.) จากเดิม 13.62 บาท/กก. เป็น 10.62 บาท/กก. เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.63 เพื่อบรรเทาผลกระทบภาวะแพร่กระจายของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ตลอดจนผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ขอความร่วมมือบมจ.ปตท. (PTT) ให้เข้ามาช่วยเหลือส่วนต่างราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะดังกล่าว เพื่อคงราคาขายปลีกที่ 10.62 บาท/กก. เป็นเวลา 3 เดือน โดยเบื้องต้นคาดว่า PTT จะใช้งบประมาณราว 300 ล้านบาท ในการช่วยเหลือรถโดยสารสาธารณะที่มีอยู่กว่า 8 หมื่นคัน โดยเป็นในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ได้แก่ กลุ่มรถแท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก รถตู้ ร่วม ขสมก. และต่างจังหวัด ได้แก่ กลุ่มรถโดยสาร มินิบัส สองแถว ร่วม ขสมก. รถโดยสาร รถตู้ร่วม บขส. และรถแท็กซี่

นอกจากนี้กระทรวงพลังงาน ยังจะได้หารือมาตรการระยะยาวสำหรับนโยบายโครงสร้างราคา NGV ให้มีความเหมาะสม และช่วยให้ผู้ประกอบการในธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจได้ หลังจากในช่วงที่ผ่านปตท.ได้เข้ามาช่วยเหลือด้านราคา NGV อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม ปตท. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาทิศทางการดำเนินการบริหารจัดการ NGV ในช่วงเวลา 3 เดือนดังกล่าวด้วย

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงานพร้อมที่จะให้ความร่วมมือเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในช่วงที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้เชิญบริษัทพลังงานมาหารือเพื่อร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยทางปตท.และบมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ได้จัดทำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือแจกให้กับผู้มาใช้บริการในสถานีบริการน้ำมัน และคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการผลิตแอลกอฮอล์ 70% เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนและราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน

นอกจากนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้นำเสนอให้ใช้ศูนย์ฝึกอบรมจำนวน 3 แห่ง ในจ.ฉะเชิงเทรา ,กาญจนบุรี และลำปาง เพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลชั่วคราว รองรับหากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นจนโรงพยาบาลของประเทศไม่สามารถรองรับได้ แต่ศูนย์บริการดังกล่าวไม่มีเครื่องมือแพทย์ เบื้องต้นเห็นว่าที่สามารถทำได้ทันทีคือใช้เป็นที่พักสำหรับผู้ที่รอผลตรวจเชื้อ ซึ่งกระทรวงพลังงานก็เตรียมจะเสนอแนวทางดังกล่าวต่อศูนย์อำนวยการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โควิด-19 ต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มี.ค. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top