นายกฯ สั่งปิดแคมป์คนงาน 1 เดือน-ลดเดินทางข้ามจังหวัด ยันไม่ล็อกดาวน์แต่คุมบางพื้นที่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข นายนายสุชาติ ชมกลิ่น เป็นรมว.แรงงาน คณะที่ปรึกษา ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงผลการประชุมร่วมกันวันนี้ โดยเป็นการออกมาตรการเฉพาะเป็นการชั่วคราวใน 3 เรื่องสำคัญ คือ

1.การเร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง โดยตั้งเป้าจะฉีดให้ครบทั้งหมดภายในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ เพราะผู้เสียชีวิตในขณะนี้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องลดการเสียชีวิตในส่วนนี้ลงให้ได้ หลังจากนั้นจะทยอยฉีดไปยังกลุ่มเป้าหมายต่างๆ

ส่วนการฉีดเข็มที่ 3 นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปพูดถึงเข็มที่ 3 แต่ฉีดเข็มที่ 1 และ 2 ให้ครบก่อน แต่ก็ได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุข และคณะแพทย์ไว้อยู่แล้ว สำหรับการบริหารจัดการวัคซีนนั้น รัฐบาลได้มีการเจรจาจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมไว้แล้ว ซึ่งตอนนี้ก็มีทั้งชิโนแวก แอสตร้าเซนเนก้า และซิโนฟาร์ม รวมถึงกำลังจะมีไฟเซอร์ และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

2.จะมีการปิดแคมป์คนงานเป็นเวลา 1 เดือน และขอให้หยุดจ้างงานแรงงานต่างด้าวเพิ่มในช่วง 1 เดือนนี้ เพื่อควบคุมการระบาดในคลัสเตอร์แรงงาน โดยจะมีการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในขณะนี้มีความห่วงใยกลุ่มคลัสเตอร์จากแคมป์คนงานต่าง ๆ เป็นพิเศษวันนี้จึงมีข้อตกลงจากข้อมูลจากหลายฝ่ายว่าจะมีมาตรการปิดแคมป์คนงานเป็นเวลา 1 เดือน โดยกระทรวงแรงงานจะเข้าไปดูแลเยียวยาชดเชย ซึ่งจะมีทั้งคนงานชาวไทยและคนต่างด้าว พร้อมกันนี้โครงการของภาครัฐที่มีการเซ็นสัญญาจ้างงานก่อสร้างไว้แล้วจะขอให้หยุดการทำงานก่อน 1 เดือนและจะชดเชยต่อเวลาโครงการให้ 1 เดือนภายหลัง

การหารือในวันนี้มีข้อสรุปที่จะขอความร่วมมือดังกล่าว โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล รวมถึงพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ประกอบด้วย จ.นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และสงขลา ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนมากในขณะนี้ จะมีมาตรการเข้มงวดขึ้น ซึ่งจะมีมาตรการเฉพาะออกมาเฉพาะสถานประกอบการ

3.ขอความร่วมมือในการเคลื่อนย้าย ลดการเดินทางข้ามจังหวัดในระยะนี้ โดยอยู่ระหว่างหามาตรการจำกัดให้เหมาะสม ซึ่งแต่ละจังหวัดมีมาตรดูแลของตนเองอยู่แล้ว ดังนั้นขอความร่วมมือขอร้องงดการเคลื่อนย้ายในช่วงนี้ เพราะหากเดินทางไปก็จะต้องปฏิบัติตามมาตรการที่แต่ละจังหวัดกำหนด

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ยังไม่ถึงขั้นห้ามคนเดินทางออกนอก กทม. แต่ขอความร่วมมือให้ลดการเดินทาง เพราะหวั่นจะเกิดแพร่เชื้อในต่างจังหวัดอีก ขออย่าเอาใจแต่ใจกัน เพราะทุกคนเดือดร้อน โดยเฉพาะตนเองที่เดือดร้อนกว่าทุกคน เพราะเป็นผู้รับผิดชอบ

ทั้งนี้ ถ้าหากไม่เชื่อนายกฯ ก็ขอให้เชื่อหมอ แต่ส่วนตัวยังไหว เช่นเดียวกับหมอก็คิดว่ายังไหวอยู่ ทุกคนมีงานหนัก แต่ทุกคนพร้อมที่จะเสียสละ หลายคนบอกว่าไม่ไหวแล้วนะ ซึ่งมาตรการในวันนี้ หมอ และ สาธารณสุข ก็มีความพอใจ ขอทดลองดำเนินการก่อน 1 เดือน

ศบค.จะมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาเพิ่มเติมภายใต้หลักการดังกล่าวข้างต้นตามมาเพื่อให้มีผลภายในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ ส่วนวิธีการต่อไปนี้ ยังต้องทำงานอยู่ แต่ปรับเรื่องจำกัดเวลาทั้งหมดก็เพื่อคนทั้งประเทศ เพื่อไม่ให้การระบาดกระจายวงกว้างต่อไป ซึ่งจะนำมาตรการช่วงสงกรานต์ปี 63 มาทบทวนว่าจะทำได้แค่ไหนอย่างไร ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน จำกัดตั้งแต่ต้นตอ รวมถึงรุกตรวจหาเชื้อ แล้วแก้ปัญหา

พร้อมกับยืนยันว่าไม่มีแนวคิดประกาศใช้เคอร์ฟิว แต่ยอมรับว่าเป็นกังวลทุกเรื่อง และหากจะดำเนินมาตรการใดก็มีผลกระทบทั้งสิ้น แต่ยืนยันจะดูแลให้มากที่สุด สิ่งสำคัญต้องฉีดวัคซีนให้มากที่สุด ป้องกันให้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นขอให้อดทน โดยเฉพาะการปิดแคมป์คนงาน และการทำ Bubble and Seal ในสถานประกอบการที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งยังสามารถประกอบกิจการได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการที่จะกำหนดออกมา

“จะไม่พูดคำว่าล็อกดาวน์เพราะคำนี้เรียกว่ามันดูยิ่งใหญ่และน่าตกใจไปหมด ทุกคนต้องอยู่ที่บ้านทั้งหมดก็จะมีปัญหาอีก หรือปิดกิจการทั้งหมด จึงขอใช้คำว่าใช้มาตรการควบคุมในบางพื้นที่ แต่ยืนยันรัฐบาลจะดูแลทุกส่วน และดูแลพื้นที่เป็นพิเศษ”

พล.อ.ประยุทธ กล่าว

ส่วนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่เยวต่างชาติด้วยมาตรการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในวันที่ 1 ก.ค.64 ยังยืนยันที่จะเดินหน้า ไม่ยกเลิก เพราะไม่เกี่ยวกัน แต่การเดินทางไปภูเก็ตต้องฉีดวัคซีนวัคซีนครบ 2 เข็ม

ส่วนการทบทวนมาตรการนั่งรับประทานในร้านอาหารอีกหรือไม่หลังเพิ่งผ่อนคลายไปนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็กำลังพิจารณาอยู่ แต่คงไม่ใช่การปิดาร้านอาหาร และส่วนที่เป็นเด็กเสิร์ฟกระทรวงแรงงานดูแลอยู่

ขณะที่เตียงคนไข้หนัก นายกรัฐมนตรีได้สั่งการ กระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว โดยเฉพาะใน กทม.ที่จัดหาได้ 100 เตียงแล้ว และสร้างห้องไอซียูเพิ่ม โดยให้กระทรวงสาธารณสุขของบประมาณเพิ่มเติม สมทบกับการบริจาค เพื่อให้เชื่อมโยงกับโรงพยาบาล และสถานที่ที่เหมาะสม ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ วันนี้ต้องทุ่มเทเข้ามาช่วยกันรักษาที่ กทม. โดยแพทย์สภา ร่วมกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้นักศึกษาแพทย์ปีสุดท้ายมาช่วยเสริมการทำงาน

พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์ และรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในทุกเรื่อง และต้องให้เกียรติบรรดาคณะหมอสาธารณสุขที่มีบทบาทนำตรงนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามนายกรัฐมนตรีว่ายังไหวใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ชู 2 นิ้วเป็นคำตอบ และเมื่อถามต่อว่า ขอสองเดือนหรือสองเข็ม นายกรัฐมนตรีหัวเราะและกล่าวว่ากำลังดำเนินการอยู่ ขณะเดียวกันคณะแพทย์ด้านหลังนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าอยู่ครบเทอม 2 ปี นายกรัฐมนตรีก็ กล่าวต่อว่า ก็ขึ้นอยู่กับพวกเขา

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า วันนี้คนไทย โดยเฉพาะคนกทม.เครียดอยู่แล้ว หากไปบอกให้อดทนยิ่งกว่านี้ก็จะโดนด่าอีก ขอบคุณที่อดทน เราต้องเผชิญสถานการณ์ไปด้วยกัน และร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกันถึงจะสำเร็จ ต้องรักสามัคคี ลดความขัดแย้ง คณะทูตยังชื่นชมประเทศไทย แม้สถานการณ์จะรุนแรง แต่เขาเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขไทยว่าจะแก้ไขได้ เพราะทำได้ดีมาโดยตลอด และไทยเป็นอันดับ 6 ของโลก แพทย์ก็ทำดีมาโดยตลอด แล้วทำไมจะไม่ให้กำลังใจแพทย์

และก่อนที่ขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า นายกรัฐมนตรี ได้หันมากล่าวกับผู้สื่อข่าวอีกครั้งว่า เชื่อใจหรือไม่ว่าจะทำได้สำเร็จ ผู้สื่อข่าวกล่าวตอบว่าเชื่อมาหลายปีแล้ว นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ก็ต้องเชื่อต่อไป ไม่อย่างนั้นใครจะทำต่อ วันนี้วันศุกร์อารมณ์ดี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มิ.ย. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top