SUN คาด Q2/64 แนวโน้มดีรับบาทอ่อนหนุน รุกขยายอาหารเพื่อสุขภาพพร้อมรับประทาน

นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซันสวีท (SUN) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 2/64 ส่งสัญญาณดี จากสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขี้น และค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าช่วยหนุนผลการดำเนินงาน โดยแนวโน้มอ่อนค่าลงมาที่ 31.95-32.00 บาท/ดอลลาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 25 มิ.ย.64)

ส่งผลให้บริษัทได้รับผลประโยชน์จากการขายสินค้าส่งออกได้ในราคาที่สูงขึ้น แม้จะมีปัจจัยการผลิต เช่น กระป๋อง ที่ได้รับผลกระทบจากราคาเหล็กสูงขึ้น แต่บริษัทยังสามารถบริหารจัดการลดต้นทุนในส่วนอื่นๆ ได้ดี รวมถึงการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ในต่างประเทศ ที่มีออเดอร์สินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ฐานะการเงินของบริษัทมีความแข็งแกร่งและมีความพร้อมในการแข่งขัน และเสริมสร้างศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจอย่างก้าวกระโดด

ทั้งนี้ บริษัทยังเดินหน้าธุรกิจตามแผนในปี 64 โดยบริษัทยังคงสัดส่วนตลาดต่างประเทศกว่า 80% ของการขายทั้งหมด เน้นกลุ่มลูกค้าประเทศที่นิยมบริโภคผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานที่มีความต้องการสินค้าสูง อาทิ ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และ กลุ่มทวีปยุโรป เป็นต้น ประกอบกับภาวะตลาดของธุรกิจส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นจากอานิสงส์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง รวมถึงปัจจุบันที่เป็นช่วงฤดูกาล High Season จึงส่งผลให้สามารถรับวัตถุดิบและขยายการผลิตสูงสุดเต็มศักยภาพหรือเต็มกำลังการผลิต (Capacity) โดยมีกำลังการผลิตรวม 218,000 ตันต่อปี ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยให้ผลประกอบการในปีนี้โตตามเป้าที่วางไว้ 10-15% ต่อปี

นอกจากนี้ บริษัทยังได้รุกธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ โดยโครงการอาคารผลิตขนาดเล็กสำหรับสินค้าพร้อมรับประทาน พื้นที่ขนาด 1,440 ตารางเมตร ใช้งบลงทุน 34 ล้านบาท สามารถรองรับกำลังการผลิต ได้ 50,000-70,000 ชิ้นต่อวัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมกำลังการผลิตจากเดิมที่มี 30,000-40,000 ชิ้นต่อวัน ให้เพิ่มขึ้นและสามารถรองรับคำสั่งซื้อสินค้าพร้อมรับประทานได้ถึง 70,000-100,000 ชิ้นต่อวัน

ปัจจุบันมี 8 ไอเทม ได้แก่ ข้าวโพดหวาน มันหวานญี่ปุ่นเผา มันหวานญี่ปุ่นสีม่วงเผา มันหวานญี่ปุ่นสีส้มเผา ถั่วลายเสือ ธัญพืชรวม ซุปข้าวโพด และข้าวต้มมัด ที่มียอดออเดอร์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเตรียมพร้อมพัฒนาสินค้าพร้อมรับประทานรายการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยทีมงานวิจัยและพัฒนาสินค้า เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าของพืชผลทางการเกษตร โดยนำมาผลิตเป็นสินค้าพร้อมรับประทานเพื่อสุขภาพ ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคที่หลากหลายยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าในปีระยะ 3-5 ปี สินค้าพร้อมรับประทานจะเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจ ที่สร้างความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มความมั่นคงของรายได้ และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มิ.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top