บิ๊กป้อม กำชับวางแผนป้องกันฝนทิ้งช่วงในก.ค.-ส.ค. สั่งจัดหาแหล่งน้ำสำรอง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ว่า ที่ประชุมกำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฝนปี 2564 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการสื่อสารไปยังประชาชนต้องเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้รับทราบในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาชนจะได้เตรียมตัวรับมือต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และให้ทุกหน่วยงานเตรียมแผนป้องกันในระหว่างที่อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ค.นี้

ทั้งนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว โดยคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งเนื่องจากฝนน้อยกว่าค่าปกติ พบว่าในเดือนสิงหาคมจะมีพื้นที่เสี่ยงมากที่สุดจำนวน 1,603 ตำบล 272 อำเภอ 34 จังหวัด และได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานจัดหาแหล่งน้ำสำรองและเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด รวมทั้งเร่งเตรียมความพร้อมแผนงาน/โครงการในการแก้ไขปัญหา หากจะต้องพิจารณาเสนอของบประมาณเพิ่มเติม เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ภัยด้านน้ำต่างๆ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความใน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการได้มาซึ่งกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทน อปท. กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการลุ่มน้ำ พ.ศ. 2564 ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ระบุว่าเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 บังคับใช้ (27 ม.ค.62) การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการลุ่มน้ำเดิมต้องสิ้นสุดลง ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องจึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าว เพื่อให้มีคณะกรรมการลุ่มน้ำชุดแรกโดยเร็ว โดยวันนี้ได้มอบหมายให้ สทนช. นำร่างกฎกระทรวงที่แก้ไข เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยเมื่อกฎกระทรวงฉบับแก้ไขประกาศใช้แล้ว จะได้ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการลุ่มน้ำทุกลุ่มน้ำให้ทันในต้นปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ต่อไป

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่จะเสนอขอรับงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เป็นต้นไปจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปี 2566 และแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ 5 ปี (2566-2570) ผ่านระบบ Thai Water Plan (TWP) ซึ่งเป็นระบบที่ สทนช.ได้พัฒนาขึ้นโดยเข้าใช้งานได้ 3 แพลตฟอร์ม ได้แก่ iOS Android และ Windows เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำของประเทศ รวมทั้งการติดตามประเมินผลโครงการด้านทรัพยากรน้ำได้อย่างเป็นปัจจุบัน โดยมีกระบวนการและปฏิทินการเสนอแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำผ่านระบบ Thai Water Plan

สำหรับการจัดทำแผนปฏิบัติการน้ำ ปี 2566-2570 แบ่งเป็น 3 ช่วง โดยเริ่มที่หน่วยงานและจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการและยืนยันแผนในระบบภายในเดือน มิ.ย.-ส.ค.64 จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการในพื้นที่คืออนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และ คณะกรรมการลุ่มน้ำในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.6464 และเข้าสู่การพิจารณาของ กนช. โดย สทนช. ในฐานะเลขานุการ กนช. จะวิเคราะห์และจัดทำแผนปฏิบัติการน้ำของประเทศ ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.64 และเสนอ กนช. พิจารณาภายในเดือน ธ.ค.64 เพื่อให้ทันตามปฏิทินงบประมาณ ปี 2566 ที่คาดว่าสำนักงบประมาณจะให้หน่วยงานเสนอแผนผ่านระบบ budgeting ช่วงเดือน ม.ค.65

ส่วนความคืบหน้าการจัดทำทะเบียนแหล่งน้ำ สทนช.ได้รวบรวมข้อมูลบัญชีแหล่งน้ำ โดยแบ่งขนาดของแหล่งน้ำตามความจุ ดังนี้ แหล่งน้ำขนาดเล็ก คือ แหล่งน้ำที่มีขนาดน้อยกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร จำนวน 142,234 แห่ง แหล่งน้ำขนาดกลาง คือ แหล่งน้ำที่มีขนาด 2 ถึง 100 ล้านลูกบาศก์เมตร จำนวน 659 แห่ง และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ คือ แหล่งน้ำที่มีขนาดมากกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร จำนวน 38 แห่ง รวมทั้งแบ่งตามประเภทของแหล่งน้ำและทางน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น และแหล่งน้ำใต้ดิน โดยที่ประชุมเห็นชอบและได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานดำเนินการลงทะเบียนแหล่งน้ำ ผ่านระบบ Thai Water Resources เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการเสนอขอตั้งงบประมาณ พิจารณาแผนงาน/โครงการ สามารถตรวจสอบหน่วยงานที่รับผิดชอบ ลดความซ้ำซ้อนของแผนงาน/โครงการในแหล่งน้ำเดียวกัน โดยให้เชื่อมโยงกับระบบ Thai Water Plan ซึ่งจะทำให้การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศมีความสมบูรณ์ ครอบคลุมในทุกมิติ สะดวกและรวดเร็ว มีความโปร่งใส สามารถใช้งบประมาณได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มิ.ย. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top