ราชกิจจาฯ เผยแพร่แนวปฎิบัติกำหนดมาตรการคัดกรองนทท.โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.เกี่ยวกับแนวปฏิบัติตามข้อกำหนดฉบับที่ 26 เพื่อรองรับการเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในวันที่ 1 ก.ค.64 โดยวางมาตรการ 3 ระยะสำหรับผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในพื้นที่ ประกอบด้วย

ระยะที่ 1 มาตรการก่อนเดินทางเข้าในราชอาณาจักร

1.ให้หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่งหรือสถานที่ชุมชนไม่น้อยกว่า 14 วัน

2. เดินทางมาจากประเทศ/พื้นที่ซึ่ง ศบค.หรือศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศอนุมัติ ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยการเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และได้มีการลงทะเบียนผ่านระบบหรือเว็บไซต์ที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้ผู้เดินทางต้องอยู่ในประเทศดังกล่าวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 21 วันก่อนการเดินทาง เว้นแต่ผู้ที่พำนักอยู่ในราชอาณาจักรซึ่งได้เดินทางออกจากราชอาณาจักรและได้เดินทางไปยังประเทศ/พื้นที่ที่ได้รับอนุมัติ โดยมีเอกสารที่ใช้ในการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ได้แก่

  • หนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ (COE)
  • ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR ระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง
  • กรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลตลอดระยะเวลาที่เดินทางเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรในวงเงินไม่น้อยกว่า 1 แสนดอลลาร์
  • หลักฐานการชำระค่าที่พักและค่าตรวจหาเชื้อโดยวิธี RT-PCR โดยระบุระยะเวลาการเข้าพักในโรงแรมไม่น้อยกว่า 14 วัน กรณีเข้ามาในราชอาณาจักรน้อยกว่า 14 วัน ให้มีบัตรโดยสารของสายการบินที่ระบุห้วงเวลาในการเดินทางออกจากราชอาณาจักร หลักฐานการชำระค่าที่พักและค่าตรวจหาเชื้อโดยวิธี RT-PCR
  • เอกสารหรือหลักฐานการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วันก่อนออกเดินทาง ส่วนผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีที่เดินทางมาด้วยให้มีใบรับรองแพทย์

ระยะที่ 2 มาตรการเมื่อเดินทางถึง/ระหว่างอยู่ในราชอาณาจักร

1.มาตรการตรวจคัดกรองอาการและการดำเนินพิธีการตรวจคนเข้าเมือง

  • กรณีเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยสายการบินที่มีเที่ยวบินตรงมายังท่าอากาศยานนานาชาติที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนำร่องให้คัดกรองอาการทางเดินหายใจและวัดไข้ พร้อมยื่นเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ รวมถึงดำเนินพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ ก่อนเดินทางเข้าในราชอาณาจักร
  • กรณีเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยสายการบินที่ไม่มีเที่ยวบินตรง และต้องเดินทางโดยทางอากาศต่อไปยังท่าอากาศยานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นำร่อง ให้ดำเนินการคัดกรองอาการทางเดินหายใจและวัดไข้ และยื่นเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ รวมถึงดำเนินพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ ที่เดินทางมาถึงก่อนเดินทางต่อไปยังพื้นที่นำร่อง หรือคัดกรองอาการทางเดินหายใจและวัดไข้ และยื่นเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ พื้นที่นำร่อง อย่างใดอย่างหนึ่งก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

2.ให้ใช้ระบบติดตามหรือติดตั้งแอปพลิเคชั่น โดยให้เปิดระบบติดตามดังกล่าวตลอดเวลาระหว่างที่พักอยู่ในพื้นที่นำร่อง

3.ให้เดินทางออกจากท่าอากศยานไปยังที่พักโดยใช้ยานพาหนะที่จัดไว้ให้ โดยไม่แวะพักก่อนถึงที่พัก

4.ให้ตรวจหาเชื้อโดยวิธี RT-PCR ตามสถานที่ที่ทางราชการกำหนด 3 ครั้ง โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

  • กรณีพำนักไม่เกิน 7 วัน ให้ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 6-7 ของระยะเวลาที่พำนักอยู่
  • กรณีพำนัก 10-14 วัน ให้ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 6-7 ของระยะเวลาที่พำนักอยู่ และครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 12-13 ของระยะเวลาที่พำนักอยู่
  • กรณีที่มีการติดเชื้อ ให้สถานที่พักประสานส่งตัวเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลคู่สัญญา โดยต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดเอง

5.กรณีผู้เดินทางออกนอกที่พักหลังทราบผลตรวจว่าไม่ติดเชื้อ ให้รายงานตัวทุกครั้งเมื่อกลับมาที่พัก โดยห้ามไปค้างคืนในสถานที่อื่น

6.กรณีพำนักในพื้นที่นำร่องน้อยกว่า 14 วัน ห้ามเดินทางออกจากพื้นที่นำร่องโดยเด็ดขาด

7.กรณีพำนักในพื้นที่นำร่องไม่น้อยกว่า 14 วัน สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่นำร่องได้เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว

ระยะที่ 3 มาตรการก่อนเดินทางออกนอกราชอาณาจักรหรือเดินทางออกจากพื้นที่นำร่องไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นภายในราชอาณาจักร

  • ให้ตรวจหาเชื้อโดยวิธี RT-PCR กรณีประเทศ/พื้นที่ปลายทางกำหนด
  • กรณีเดินทางจากพื้นที่นำร่องไปยังจังหวัดอื่นให้แสดงหลักฐานการพำนักอยู่ในพื้นที่นำร่อง พร้อมหลักฐานการตรวจหาเชื้อโดยวิธี RT-PCR ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อของจังหวัดต้นทางและปลายทางตามที่ทางราชการกำหนด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มิ.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top