GL ขู่ฟ้องอดีตบอร์ดตรวจสอบเปิดข้อมูลโอนเงินบ.ย่อย-คดีศาลสิงคโปร์เลื่อนไม่มีกำหนด

นายทัตซึยะ โคโนชิตะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กรุ๊ปลีส (GL) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมฟ้องดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับรายงานข่าวที่อ้างว่าอดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบ GL ระบุว่าได้ส่งรายงานการตรวจสอบให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่าพบพฤติกรรมน่าสงสัยในการทำธุรกรรมของ GLF ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GL ในกัมพูชากับ AFP Trading Co. Ltd. (APFT) ซึ่ง GLF โอนเงินให้ APFT จำนวน 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้รับคำชี้แจงที่กระจ่างจากผู้บริหารของ GL และเชื่อว่าอาจมีการโอนเงินทำนองนี้ไปให้ APFT หรือนิติบุคคลอื่นอีกหลายครั้ง

ทั้งนี้ นายทัตซึยะ กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวได้สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อบริษัท และเตรียมฟ้องผู้ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลเท็จดังกล่าว

ส่วนกรณีหุ้นกู้ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่ทาง J Trust Asia Ptr. Ltd (JTA) ฟ้องร้องต่อศาลที่สิงคโปร์เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายหายกับบริษัทนั้น ศาลได้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไปอย่างไม่มีกำหนดจากเดิมที่จะพิจารณาคำตัดสินในเดือนนี้ เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ดังนั้น ประเด็นดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัท จึงยังไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายให้กับคู่กรณี ซึ่งจะต้องรอจนกว่าศาลจะกลับมาพิจารณาคดีอีกครั้ง

นายทัตซึยะ กล่าวอีกว่า ขณะนี้บริษัทยังไม่สามารถส่งงบการเงินงวดปี 63 สิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค.63 ให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ หลังจากที่ผู้ตรวจสอบบัญชี คือ บริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย สอบบัญชีจำกัด (KPMG) ยังไม่สามารถสรุปความเห็นในงบการเงินได้ ทำให้การนำส่งงบต้องเลื่อนออกไป ซึ่งบริษัทกำลังเร่งแก้ไขปัญหาและจะนำส่งให้เร็วที่สุด

สำหรับแนวโน้มธุรกิจของบริษัทในปี 64 ยังคงได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างต่อเนื่องในประเทศและหลายประเทศของอาเซียน ทำให้การปล่อยสินเชื่อใหม่ชะลอตัวลงทั้งในไทย กัมพูชา และเมียนมา ซึ่งสาเหตุอีกส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทเข้มงวดในการพิจาณาสินเชื่อมากขึ้น และยังกระทบกับความสามารถในการชำระเงินของลูกค้าด้วย ประกอบกับทิศทางของหนี้เสีย (NPL) ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทยังไม่เร่งการรุกขยายธุรกิจมาก และดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังภายใต้ภาวะความไม่แน่นอน

อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่าหากมีการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ธุรกิจสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ จากการที่บริษัทมีความมั่นใจมากขึ้น เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงอย่างชัดเจน ทำให้บริษัทกลับมารุกปล่อยสินเชื่อได้ และคนเริ่มกลับมาทำงานและใช้ชีวิตกันปกติ ทำให้มีรายได้ และมีความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น ช่วยลดผลกระทบของบริษัทในเรื่องการจัดเก็บหนี้ที่กลับมาดีขึ้น และ NPL ที่จะไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top