ฟรุ้ทบอร์ด เห็นชอบแผนบริหารจัดการผลไม้ช่วงโควิด-19

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ้ทบอร์ด) เปิดเผยว่า ตนเองได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ซึ่งเป็นกลไกแกนหลักของฟรุ้ทบอร์ดเร่งทำงานเชิงรุกดูแลผลไม้ภาคใต้และลำไยภาคเหนือภายใต้แผนปฏิบัติการปี 2564 ของฟรุ้ทบอร์ด โดยเฉพาะในช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก โดยเน้นการขับเคลื่อนแผนการตลาดออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

โดยให้นำแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออกมาเป็นต้นแบบ ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ทั้งเรื่องราคาและตลาดจากการทำงานเชิงรุกและเพิ่มกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ เช่น ระบบสั่งซื้อล่วงหน้า (Pre-order) บนแพลตฟอร์มออนไลน์ในการส่งออกทุเรียนไปตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 เร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกจากนี้ยังได้ย้ำเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของผลไม้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ด้าน นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในการประชุมได้มีการพิจารณาประเด็นสำคัญ อาทิ การเพิ่มครัวเรือนเป้าหมายโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563, ผลการบริหารจัดการผลไม้ประจำฤดูกาลผลิตที่ 1/2564 (มี.ค.-มิ.ย.) ในพื้นที่ภาคเหนือ (ลิ้นจี่) และภาคตะวันออก (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) , การประเมินสถานการณ์การผลิตไม้ผล ปี 2564 (ภาคเหนือ และภาคใต้) และเห็นชอบแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ (ลำไย) ปี 2564, แผนบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ปี 2564 และการช่วยเหลือเกษตรกรแก้ไขปัญหามะม่วงของจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดชัยภูมิ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ดูแลตามห่วงโซ่อุปทาน (Supply-Value chain) ตามพื้นที่การผลิต (Areas -Products base) และคณะทำงานด้านระบบข้อมูลโลจิสติกส์ และคณะศึกษาเสถียรภาพกลุ่มสินค้าเช่นลำไยด้วย

สำหรับโครงการเยียวยาชาวสวนลำไย ฤดูกาลผลิตปี 2563 ได้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเงินให้เกษตรกรที่ได้รับอนุมัติเพิ่มเติมจำนวน 154 ราย ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรจำนวน 201,986 ราย ได้รับเงินเยียวยาไปแล้ว2,858,355,450 บาท

ส่วนผลการบริหารจัดการผลไม้ ฤดูกาลผลิตที่ 1/2564 (มี.ค.-มิ.ย.) ภาคเหนือ ผลผลิตลิ้นจี่ มีปริมาณผลผลิตทั้งหมด 27,952 ตัน ในภาพรวมส่วนใหญ่มีการบริโภคในประเทศ 23,620 ตัน หรือ 84.51% แปรรูป 2,131 ตัน หรือ 7.62% และส่งออก 2,201 ตันหรือ 7.87% ในส่วนของภาคตะวันออก ที่มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 900,126 ตัน ประกอบด้วย ทุเรียน 575,542 ตัน มังคุด 106,796 ตัน เงาะ 197,708 ตัน และลองกอง 20,080 ตัน มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วรวมทั้งหมด 830,870 ตัน คิดเป็น 92.31% (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ก.ค.64) ซึ่งขณะนี้ยังไม่สิ้นสุดฤดูกาล โดยมีการเน้นการป้องปรามทุเรียนอ่อน โดยจังหวัดได้กำหนดมาตรการระยะสั้นเพื่อควบคุมและป้องกันทุเรียนอ่อนไม่ให้ออกนอกแหล่งผลิต ด้วยการจัดตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อช่วยสกัดกั้นทุเรียนอ่อน โดยใช้บทลงโทษทางกฎหมาย

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาคุณภาพผลผลิตตามความเหมาะสมของพื้นที่ การเชื่อมโยงตลาด ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี โดย AIC และหน่วยงานส่งเสริมต่างๆ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลไม้และผลไม้อัตลักษณ์ตลอดจนการจัดทำแปลงเรียนรู้การส่งเสริมการผลิตตามระบบมาตรฐาน GAP และ GI การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งขององค์กรตามระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ สหกรณ์ และศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชน การตรวจสอบย้อนกลับโดยใช้ QR Code เป็นต้น

ที่ประชุมยังได้หารือแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ (ลำไย) ปี 2564-2565 มีการประเมินผลผลิตที่ 683,435 ตัน ใช้บริโภคสดภายในประเทศ 101,543 ตัน แปรรูป 438,420 ตัน ส่งออก 143,472 ตัน โดยขณะนี้ราคาลำไยสดช่อเกรด AA เท่ากับ 32 บาท/กิโลกรัม เกรด AA+A เท่ากับ 31 บาท/กิโลกรัม โดยกระจายผลผลิตผ่านล้งภายในประเทศ วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ห้าง Modern Trade ระบบของไปรษณีย์ไทย การตลาดออนไลน์และตลาดค้าผลไม้ภายในจังหวัด การจัดจำหน่ายตรงผู้บริโภค การบริโภคในครัวเรือน เป็นต้น

ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้เร่งรัดดำเนินการด้านแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ปี 2564 รวมปริมาณทั้งสิ้น 824,728 ตัน โดยเป็นทุเรียน 554,459 ตัน มังคุด 165,838 ตัน เงาะ 62,510 ตัน ลองกอง 41,921 ตัน ซึ่งจะมีแนวทางการกำกับ ติดตาม เฝ้าระวังช่วงปริมาณผลผลิตออกมาก (Peak) ปี 2564 และแจ้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) บริหารจัดการเชิงรุกผลไม้ในพื้นที่ พร้อมกำกับดูแลในพื้นที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงานและราคาผลผลิตตกต่ำในช่วงผลผลิตออกปริมาณมาก (Peak) ตามนโยบายของ รมว.เกษตรและสหกรณ์

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เกษตรกรชาวสวนได้รับผลกระทบ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจ่ายเงินชดเชยกับชาวสวนมะม่วงที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับชาวนา โดยเสนอให้ชดเชยชาวสวนลำไยไร่ละ 2,000 บาท คนละไม่เกิน 25 ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 50,000 บาท และการพิจารณาช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้ตกต่ำในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิที่ได้รับความเดือดร้อน จำนวน 8,920 ครัวเรือน พื้นที่ 15,057 ไร่ ผลผลิต 11,292 ตัน โดยประสงค์ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อชดเชยราคาผลผลิตมะม่วงจำนวน 535,930,250 บาท ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนตาม 5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย โมเดลเกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาดภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต โดยบูรณาการทุกภาคส่วน และใช้เทคโนโลยีในการผลิต เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรต่อไปอย่างยั่งยืน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top