TDRI ระบุหากสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ช้าอาจระบาดไม่รู้จบ แนะรัฐปรับแนวทางใช้งบฟื้นศก.ให้ถูกจุด

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจาก สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญตอนนี้ของประเทศไทยที่ต้องจัดการ คือ การควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ระบาดให้ได้ โดยเฉพาะต้องเร่งสรรหาวัคซีนโควิด-19 ให้เพียงพอกับประชาชน และเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประเทศไทยสามารถกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งเพื่อฟื้นเศรษฐกิจและเดินหน้าต่อไปได้

แม้ว่าปัจจุบันได้มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในกลุ่มจังหวัดเสี่ยง ซึ่งได้มีการปิดบางกิจการชั่วคราว แต่ยังมองว่าประเทศไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่สิ้นสุด โดยเข้าสู่การแพร่ระบาดระลอก 4 แล้วจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ทำให้การควบคุมสถานการณ์ยากขึ้น และจำนวนผู้ติดเชื้อยังอย่ในระดับสูง มาตรการควบคุมที่เข้มงวดอาจจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้เพียงแค่ชั่วคราวหากประชาชนยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ แต่สุดท้ายเมื่อกลับมาผ่อนคลายมาตรการและกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งจำนวนผู้ติดเชื้อก็จะกลับมาเพิ่มขึ้นได้อีก

ขณะเดียวกันในปัจจุบันยังมีความกังวลเรื่องการจัดหาและส่งมอบวัคซีนที่ยังล่าช้า โดยเฉพาะล่าสุดแอสตร้าเซนเนก้าเลื่อนการส่งมอบวัคซีนให้ครบตามสัญญาออกไปเป็นช่วงเดือน พ.ค.65 จากเดิมที่จะส่งมอบภายในปลายปี 64 จึงกระทบต่อแผนการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ภายในปีนี้ ภาครัฐจึงควรเร่งปรับแผนการจัดหาวัคซีนเพื่อทำให้มีวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนได้มากที่สุด

“ความเสี่ยงก็ยังมีอยู่จากโควิด-19 บางทีเราอาจจะเจ็บแต่ยังไม่จบ เพราะเมื่อเปิดเศรษฐกิจมาอีกก็อาจจะเกิดคลัสเตอร์ การระบาด และทำให้ปิดอีกก็ได้ เราไม่ควรร่ายรำกับปัญหานี้ให้ลากยาว เราต้องรู้ว่าปลายทางคืออะไร ทางออกที่ดีคือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ภาครัฐควรปรับแผนการจัดหาวัคซีน และต้องมองอีกแง่ว่าโควิด-19 จะเป็นโรคประจำปีแบบไข้หวัดใหญ่ที่ประชาชนต้องฉีดวัคซีนทุกปี และโควิดรอบนี้กำลังจะสร้างบาดแผลให้กับประชาชนและเศรษฐกิจ จากปัญหาเรื่องการจ้างงานและรายได้ที่ลดลง”นายนณริฏ กล่าว

ด้านการใช้งบประมาณเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาครัฐนั้น ที่ผ่านมาเป็นเพียงกิจกรรมให้ความรู้ในขั้นประถมเท่านั้น ไม่ได้ส่งเสริมหรือยกระดับศักยภาพทักษะและขีดความสามารถให้กับแรงงานและผู้ประกอบการ เพราะเป็นแค่ารอบรมความรู้พื้นฐานในการประกอบอาชีพเท่านั้น เช่น การสอนปลูกผัก สอนการทำวิชาชีพต่างๆ

“อยากเห็นการใช้งบประมาณของภาครัฐในการเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบให้มากกว่านี้ พร้อมกับการเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการและแรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของไทย ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เอางบไปสร้างเสาไฟกินนรี อย่างที่เราเห็นกัน”นายนณริฏ กล่าว

นอกจากนี้ ภาครัฐควรมองหาการลงทุนที่จะเป็นปัจจัยช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย (Growth Engine) ในระยะยาว เพื่อสร้างศักยภาพให้กับเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ทำให้ทิศทางของเศรษฐกิจไทยเติบโตได้สูงกว่าเดิมมากขึ้นเท่าตัว และเป็นรายได้ระยะยาวเข้าประเทศให้กับประชาชนรุ่นหลังที่เกิดขึ้นมา เพราะประเทศไทยยังมีกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยังซ่อนอยู่และยังไม่ถูกผลักดันออกมาให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง อย่างเช่น การลงทุนโครงการ Land Bridge และการขุดคลองไทยที่จะทำให้ประเทศไทยมีศักยภามากขึ้น สร้างรายได้ระยะยาวเข้าประเทศเพิ่ม

รวมถึงการเชื่อมต่อโครงการรถไฟไทย-จีน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำสินค้าไปขายในประเทศจีนได้มากขึ้น หลังจากที่ปัจจุบันจีนได้ทำเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงกับ สปป.ลาว และเวียดนาม ทำให้ไทยควรมองโอกาสในการลงทุนเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟจากต่างประเทศกับรถไฟไทย-จีน ซึ่งไม่ได้ใช้เม็ดเงินในการลงทุนมากนักเมื่อเทียบกับโอกาสในการสร้างมูลค่าให้กับผู้ประกอบการและเศรษฐกิจไทยในระยะยาวที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นได้อย่างก้าวกระโดด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top