AMR เคาะราคาขาย IPO หุ้นละ 6.90 บาท เปิดจอง 21-23 ก.ค.เข้าเทรด 2 ส.ค.

นายดิถดนัย สังขะรมย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.ทรีนีตี้ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ของ บมจ.เอเอ็มอาร์ เอเซีย (AMR) เปิดเผยว่า AMR กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) จำนวน 150 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท/หุ้น ในราคาหุ้นละ 6.90 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) เท่ากับ 15.33 เท่า (Post-IPO Dilution) คำนวณจากผลประกอบการ 4 ไตรมาสย้อนหลังของบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 ซึ่งถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ และมีส่วนลดให้กับนักลงทุน

บริษัทจะเปิดให้จองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 21-23 ก.ค.64 นี้ และคาดว่าสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ในวันที่ 2 สิงหาคม 2564 โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขาย “AMR” ในหมวดธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ทั้งนี้ บล.ทรีนีตี้ เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ AMR โดยมีผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายอีก 3 แห่ง ประกอบด้วย บล.เอเซีย พลัส, บล.ฟินันเซีย ไซรัส และ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย)

“AMR ถือเป็นหุ้นที่น่าลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการเติบโตอย่างไม่หยุดนิ่ง ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งธุรกิจอยู่ในเมกะเทรนด์ จากการเดินหน้าขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมขนส่งระบบราง การลงทุนเมืองอัจฉริยะ ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ AMR ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการวางระบบเทคโนโลยีโซลูชั่นแบบครบวงจร และมีประสบการณ์รับงานเทิร์นคีย์ระบบเดินรถไฟฟ้า เจ้าแรกของเมืองไทย ทำให้คาดว่าจะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนทั้งที่เป็นประเภทสถาบันและประชาชนทั่วไป”

นายดิถดนัย กล่าว

นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) (AMR) กล่าวว่า การระดมทุนผ่านการขายหุ้นไอพีโอในครั้งนี้ จะทำให้ฐานเงินทุนของบริษัทฯ มีความแข็งแกร่งขึ้น เพิ่มโอกาสการรับงานที่มีมูลค่าระดับมากกว่าพันล้านบาท และสร้างความเชื่อมั่นให้กับพันธมิตรและคู่ค้า โดยเตรียมนำเงินที่ได้ไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจด้านคมนาคมขนส่ง ด้านพลังงานและสาธารณูปโภค และเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ (Recurring Income) รวมถึงนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และใช้สำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านการให้บริการและต่อยอดเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ทั้งนี้ ในอนาคตการดำเนินธุรกิจของ AMR มีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมากตามการขยายตัวด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ ทั้งประเภทระบบเทคโนโลยีคมนาคมและการเดินรถไฟฟ้า พลังงานและระบบสื่อสาร โดยภาครัฐเตรียมเปิดประมูลงานใหม่อย่างต่อเนื่อง และในปัจจุบันบริษัทฯ มี Backlog ในมือแล้วประมาณ 1,451.2 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปี นับจากนี้

“หลังการเข้าระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยเพิ่มโอกาสการเติบโตของ AMR ได้เป็นอย่างมาก ซึ่งภาครัฐมีแผนเตรียมเปิดประมูลงานใหม่อย่างต่อเนื่อง ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าในเมือง รวมไปถึงรถไฟในต่างจังหวัด โดย 20-30% ของโครงการเกี่ยวข้องกับการวางระบบ ทำให้เห็นโอกาสการเติบโตได้อีกมากในช่วงหลาย 10 ปี”

นายมารุต กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top