UPA พุ่ง 12.20% ตอบรับแผนซื้อกิจการ GTG รุกธุรกิจกัญชง-กัญชาครบวงจร

หุ้น UPA ราคาพุ่งขึ้น 12.20% มาอยู่ที่ 0.46 บาท เพิ่มขึ้น 0.05 บาท มูลค่าซื้อขาย 551.85 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.45 น. โดยเปิดตลาดที่ 0.43 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 0.48 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 0.42 บาท

นายกวิน เฉลิมโรจน์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย (UPA) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญ จากการบรรลุข้อตกลงกับผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัด หรือ GTG โดยมีเป้าหมายที่จะเข้าซื้อหุ้น 100%

ทั้งนี้ GTG เป็นผู้ประกอบการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำด้านธุรกิจกัญชง-กัญชาแบบครบวงจรในประเทศ และเป็นผู้พัฒนากัญชงสายพันธุ์ Raksa (รักษา) โดยได้รับใบอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์ เพาะปลูก และมีโรงสกัดสาร CBD ภายใต้มาตรฐาน GHP (Good Hygiene Practice) และ HACCP (Hazards Analysis and Critical Control Points) เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น

การลงทุนครั้งนี้ ช่วยให้ UPA ก้าวสู่ธุรกิจกัญชง-กัญชาแบบครบวงจร และสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจเพิ่มเติมจากธุรกิจหลักของบริษัทในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากการให้การตอบรับและให้ความสนใจของธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการนำผลิตภัณฑ์ของ GTG ไปใช้ในการผลิตสินค้าของตน ซึ่งขณะนี้ GTG ก็ได้ร่วมทดลองและพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่กับบริษัทหลายแห่ง ซึ่ง GTG มีเป้าหมายจะทำตลาดทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศด้วย

โดย UPA จะเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 4,224 ล้านบาท และออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 8,449.7 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น เพื่อจัดสรรให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) แก่กลุ่มผู้ถือหุ้น GTG ทุกราย นอกจากนี้ UPA ก็จะเตรียมความพร้อมด้านเงินทุนไว้ขยายธุรกิจเพิ่มเติม รวมถึงธุรกิจที่ UPA ดำเนินการอยู่แล้ว

ทั้งนี้ UPA จะทำการเพิ่มทุนด้วยการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ และออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นของ UPA ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ UPA และผู้ถือหุ้นจากการจองซื้อหุ้น PP ในอัตราส่วน 4 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่สำหรับหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 4,645 ล้านหุ้น และอัตราส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิ ซึ่ง UPA จะออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อรองรับการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิอีก 3,716 ล้านหุ้น รวมเป็นการเพิ่มทุนทั้งหมด 16,810.7 ล้านหุ้น คิดเป็นทุนจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 8,405.4 ล้านบาท โดยบริษัทฯ พร้อมกำหนดจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 เพื่อขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นต่อไป

“ด้วยเป้าหมายที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรเพื่อความเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราจึงตัดสินใจลงทุนซื้อกิจการ GTG ซึ่งเป็นผู้ประกอบการตัวจริงในวงการอุตสาหกรรมกัญชง-กัญชาของไทย ที่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีโรงสกัดสาร CBD ด้วยเทคนิคการสกัด CO2 ที่ทันสมัย ซึ่งเราเชื่อมั่นว่ากลุ่มธุรกิจนี้จะมีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันการเติบโตของ UPA ในอนาคต จากปัจจุบันที่เรามีความแข็งแกร่งในกลุ่มธุรกิจพลังงาน ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจสาธารณูปโภคในกลุ่มประเทศ CLMV+T “

นายกวิน กล่าว

ด้านนายกฤษณ์ ธีรเกาศัลย์ กรรมการผู้จัดการ GTG กล่าวว่า GTG เป็นผู้ประกอบการธุรกิจกัญชง-กัญชาแบบครบวงจรของไทย ที่เห็นโอกาสเติบโตของอุตสาหกรรม โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ลงทุนก่อสร้างศูนย์วิจัยกัญชง-กัญชามาตรฐาน GMP ครอบคลุมต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ ขั้นตอนการเพาะปลูก การจัดตั้งโรงสกัด ไปจนถึงการส่งออก

โดยในปี 61 GTG ได้รับอนุญาตจากภาครัฐให้นำเข้าสายพันธุ์กัญชง-กัญชาจากต่างประเทศจำนวน 12 สายพันธุ์เพื่อมาทำการศึกษาและพัฒนาสายพันธุ์โดยแลกเปลี่ยนเทคนิคทางวิชาการด้านการเพาะปลูก กับมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 2 ปี จน GTG ประสบความสำเร็จในการพัฒนากัญชงสายพันธุ์ Raksa (รักษา) ที่เหมาะสมกับสภาพดินและอากาศของไทย อีกทั้งยังให้สารสกัด CBD ในดอกแห้งคุณภาพสูงถึง 15.8% ซึ่งถือว่ามากกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมกัญชา-กัญชงโลกที่อยู่เพียง 10% และยังให้ปริมาณ THC ต่ำกว่า 1% ตามที่กฎหมายไทยกำหนด

ทั้งนี้ กัญชงสายพันธุ์ Raksa ของ GTG ยังสามารถให้สารสกัดในรูปแบบ Full Spectrum CBD ที่ได้มาตรฐาน GMP รายแรกของประเทศไทย ซึ่งมีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้ในทางการแพทย์ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่กำลังจะมีการออกกฎหมายตามมา GTG พร้อมนำองค์ความรู้การเพาะปลูกช่วยสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยมีแผนงานก่อสร้างโรงเรือนระบบปิดมาตรฐาน ISO 8 cleanrooms, เพื่อเพิ่มการเพาะปลูกกัญชงขึ้นอีก 2 แห่งในจังหวัดเชียงราย พร้อมจะเริ่มดำเนินการปลูกได้ในสิ้นเดือนสิงหาคม และยังมีโรงเรือนระบบปิดในกรุงเทพฯ อีกแห่งที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อรองรับความต้องการเชิงพาณิชย์ต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ค. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top