พาณิชย์จับมือ 3 สมาคมจัดโครงการลดราคาปุ๋ยช่วยเกษตรกรลดต้นทุน

ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาปุ๋ยในตลาดมีการปรับราคาสูงขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากวัตถุดิบแม่ปุ๋ยยูเรีย แม่ปุ๋ยฟอสเฟต และแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม รวมถึงปุ๋ยเคมีสำเร็จรูปที่ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมีการปรับราคาสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีในต่างประเทศเพิ่มขึ้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ขอความร่วมมือให้ผู้จำหน่ายปุ๋ยตรึงราคาออกไประยะหนึ่งเข้มงวดการปิดป้ายแสดงราคาจำหน่าย และตรวจสอบสถานการณ์ราคาแ ละเพื่อดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรด้านปัจจัยการผลิตอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพและเพื่อลดภาระการผลิตให้กับเกษตรกร

กรมการค้าภายใน ได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ภายใต้นโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” จัดทำโครงการลดราคาปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร โดยขอความร่วมมือสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร รวม 3 สมาคม ประกอบด้วยผู้ผลิตและนำเข้าแม่ปุ๋ยและปุ๋ยเคมี 19 ราย โดยมีปุ๋ยที่ได้รับความนิยม รวม 84 สูตร อาทิ สูตร 46-0-0, สูตร 16-20-0, สูตร 21-0-0 และสูตร 15-15-15 เป็นต้น จำหน่ายผ่านสหกรณ์และสถาบันเกษตรกรในราคาถูกกว่าท้องตลาด โดยลดราคาเฉลี่ยกระสอบละ 20 บาท เป้าหมาย 208,411 ตัน ผ่านกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งจะดำเนินการให้ครบตามเป้าหมายจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2564

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบที่ 1 ได้เชื่อมโยงจำหน่ายผ่านสถาบันเกษตรกร จำนวน 97 แห่งรวม 591,940 กระสอบ (29,597 ตัน) แบ่งเป็นสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร จำนวน 85 แห่ง ยอดรวม 587,980 กระสอบ (29,399 ตัน) และศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน/วิสาหกิจชุมชน/แปลงใหญ่ จำนวน 12 แห่ง ยอดรวม 3960 กระสอบ (198 ตัน) ซึ่งสามารถช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ 11,838,800 บาท ทั้งนี้ สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อได้ที่กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์

รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการค้าภายใน ยังมีมาตรการการกำกับดูแลด้านปริมาณและราคา โดยผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายตั้งแต่ 100 ตันขึ้นไป ต้องแจ้งปริมาณผลิต นำเข้า จำหน่าย คงเหลือ สถานที่เก็บเป็นประจำทุกเดือน ภายในวันที่ 10 ของเดือน ผู้ผลิตจะต้องขออนุญาตเปลี่ยนแปลงราคาจำหน่าย และผู้นำเข้าต้องแจ้งการนำเข้า (ปริมาณ ราคา ยี่ห้อ สูตร) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นำเข้า ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ซึ่งกรมการค้าภายในจะติดตามราคาจำหน่ายอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ หากพบว่ามีการกักตุนหรือจำหน่ายสินค้าในราคาแพงเกินสมควร จะมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่ไม่ปิดป้ายแสดงราคาจำหน่าย จะมีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 10,000 บาท โดยสามารถแจ้งหรือร้องเรียนสายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top