ฟิทช์คงอันดับเครดิต GPSC ที่ A+(tha) แนวโน้มมีเสถียรภาพหลังลงทุนในอินเดีย-ไต้หวัน

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ของบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวมีเสถียรภาพ

การประกาศคงอันดับเครดิตเกิดขึ้นหลังจากที่ บริษัทฯได้ประกาศการแผนการลงทุน จำนวน 1.48 หมื่นล้านบาท สำหรับการเข้าซื้อสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 41.6 ของบริษัท Avaada Energy Private Limited ในประเทศอินเดีย ซึ่งมีสินทรัพย์เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และอีกประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ในการเข้าซื้อสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 25 ในบริษัท CI Changfang Limited และ CI Xidao Limited ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งในประเทศไต้หวัน โดยการลงทุนในประเทศอินเดียได้บรรลุข้อตกลงแล้ว ส่วนการลงทุนในประเทศไต้หวันยังคงต้องผ่านการอนุมัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไต้หวัน

ฟิทช์ได้ปรับลดอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile)ของบริษัทฯ เป็น ‘a-(tha)’ จาก ‘a(tha)’ เนื่องจากฟิทช์คาดการณ์ว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทจะสูงขึ้นจากแผนการลงทุนของบริษัทฯ ซึ่งมีแหล่งเงินทุนส่วนใหญ่มาจากเงินกู้ โดยฟิทช์มองว่าสถานะทางธุรกิจของบริษัทฯ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักจากการลงทุนดังกล่าว เนื่องจากการปรับตัวที่ดีขึ้นจากการกระจายตัวของสินทรัพย์ในภูมิภาคต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น จะถูกลดทอนโดยคุณภาพของสินทรัพย์ของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศอินเดีย ที่ด้อยกว่าสินทรัพย์ของบริษัทฯ ในปัจจุบัน

ฟิทช์ยังได้พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่าง GPSC และบริษัทแม่ ซึ่งได้แก่ บมจ. ปตท. (PTT) หรือ ปตท. (อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศที่ ‘BBB+’ และ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ใหม่ และมองว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวมีความแข็งแกร่งขึ้น กว่าก่อนหน้านี้ จากความสัมพันธ์ด้านกลยุทธ์ของ GPSC ที่เพิ่มขึ้น โดย GPSC จะเป็นบริษัทฯ หลักของกลุ่ม ปตท. ในการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีความสำคัญต่อกลยุทธ์ของกลุ่มด้านการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ดังนั้นฟิทช์คาดว่า การสนับสนุนจาก ปตท.จะเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้อันดับเครดิตของ GPSC ได้มีการพิจารณารวมถึงการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นมาสองอันดับจากสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัทจากเดิมที่หนึ่งอันดับ

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

  • ความสัมพันธ์กับ ปตท. ที่เพิ่มขึ้น

ฟิทช์มองว่าบทบาทของ GPSC ในการสนับสนุนการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนของกลุ่ม ปตท. ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทฯ ทั้งสองมีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยการลงทุนดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากเงินกู้ยืมจาก ปตท. สะท้อนถึงการสนับสนุนของ ปตท. ที่เพิ่มมากขึ้น และแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของ ปตท.ในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็น 8,000 MW ภายในปี 2573 ฟิทช์เชื่อว่า GSPC จะได้รับประโยชน์จากความคล่องตัวในการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ผ่านการบริษัทร่วมกับ ปตท หลังจากที่มีปรับเปลี่ยนการถือหุ้นในธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม บทบาทของ GPSC ในกลุ่ม ปตท. ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้บริษัทสามารถเข้าการสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นจากปตท.

  • แรงกดดันต่อสถานะทางการเงิน

ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ของบริษัทฯจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 5.5 เท่า ในช่วงปี 2564-2566 (ปี 2563 อยู่ที่ 4.4 เท่า) บริษัทฯ ยังมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนอยู่ในระดับสูงในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าของ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน)(GLOW) ที่จะหมดอายุลง และการก่อสร้างโครงการ Energy Recovery Unit ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินน่าจะค่อยๆ ปรับตัวลดลง ในปี 2567 หลังจากโครงการ ERU และโครงการในประเทศไต้หวัน เริ่มมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ฟิทช์คาดว่า จะไม่มีเงินปันผลรับจากโครงการในประเทศอินเดียในช่วง 4 ปีข้างหน้า เนื่องจากการโครงการที่มีแผนการลงทุนที่สูง

  • การกระจายตัวของสินทรัพย์ที่ดีขึ้น

ฟิทช์ เชื่อว่าการลงทุนในธุรกิจพลังานหมุนเวียนดังกล่าวซึ่งมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นจำนวนมากว่า 1.7GW จะช่วยเพิ่มกระจายตัวด้านสินทรัพย์ให้กับบริษัทฯ GPSC จะมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น โดยกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 6 GW ในภายปี 2567 จากจำนวน 5 GW ในปัจจุบัน และเพิ่มการกระจายตัวของเชื้อเพลิง โดยกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังานหมุนเวียนจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30 จากร้อยละ 10 รวมทั้งการกระจายด้านภูมิศาสตร์ที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่าสถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้น จะถูกลดทอน เนื่องจากคุณภาพของกระแสเงินสดจากโครงการดังกล่าวลักษณะด้อยลง เนื่องจากการลงทุนในครั้งนี้GSPCเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย ซึ่งความสามารถในการเข้าถึงกระแสเงินสดที่ต่ำกว่า ฟิทช์เชื่อว่าคุณภาพของสินทรัพย์ในประเทศอินเดียจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าสินทรัพย์ปัจจุบันของบริษัทฯ จากฐานะการเงินที่แย่กว่าของผู้รับซื้อไฟฟ้าของโครงการดังกล่าว

  • รายได้ที่มั่นคง

GPSC มีรายได้ที่สม่ำเสมอ จากการที่สินทรัพย์ส่วนใหญ่ของบริษัทฯอยู่ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทยที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล และสินทรัพย์ส่วนใหญ่ในต่างประเทศมีลักษณะเป็นสัญญาระยะยาว และมีความเสี่ยงด้าน ลูกค้าต้องรับซื้อกระแสไฟฟ้าที่ไม่สูงมากนัก ฟิทช์คาดว่า บริษัทจะมี EBITDA อยู่ที่ระดับ 1.9 ถึง 2.0 หมื่นล้านบาท ในช่วงปี 2564-2566 และมีสัดส่วน EBITDA ต่อรายได้ ที่ร้อยละ 28 สนับสนุนจากค่าใช้จ่ายด้านก๊าซธรรมชาติที่ต่ำ และการบริหารจัดการโครงข่ายด้านกระแสไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกับ GLOW ทั้งนี้ฟิทช์คาดว่า GPSC จะค่าใช้จ่ายในการลงทุนประมาณ 1.6-4.1 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

ฟิทช์ได้พิจารณาความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงาน ระหว่าง บริษัทแม่ หรือ ปตท. อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า บริษัทในกลุ่ม ปตท. ที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมี และโรงกลั่น เช่น บมจ. ไทยออยล์ (TOP) (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A+(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) อย่างไรก็ตาม GPSC และบริษัทในกลุ่มปิโตรเคมี และโรงกลั่นมี อันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นสองอันดับจากอันดับเครดิตโดยลำพัง เท่ากัน เนื่องจาก GSPC มีความสำคัญกับ ปตท. โดยเป็นบริษัทหลักของกลุ่มในการลงทุนใน ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เพื่อรองรับ กลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของกลุ่ม การสนับสนุนทางการเงินจากปตท.ต่อ GSPC อยู่ในระดับใกล้เคียงกับ TOP

โดยมี GSPC มีรายได้และกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ใกล้เคียงกับ บมจ. บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘BBB+(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานในสนามบินหลักของประเทศไทย และ บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด หรือ NNEG (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กในประเทศไทย โดย BAFS และ NNEG ต่างมีรายได้ที่สม่ำเสมอ จากการแข่งขันทางธุรกิจที่ต่ำ และ NNEG ยังได้รับประโยชน์จากสัญญาซื้อขายระยะยาวเช่นเดียวกับ GSPC

ทั้งนี้ GPSC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า BAFS เนื่องจาก GPSC มีการกระจายตัวของทรัพย์สินและรายได้ที่สูงกว่า นอกจากนี้ BAFS ยังได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมการบินที่ถดถอยจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส ทำให้รายได้อ่อนแอ่ลง และมีอัตราส่วนหนี้สินเพิ่มขึ้น ดังนั้น อันดับเครดิตโดยลำพังของ GPSC อยู่ในระดับที่สูงกว่าอันดับเครดิตของ BAFS

GPSC มีอัตราส่วนหนี้สินในระดับที่สูงกว่า NNEG โดยฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน FFO net leverage ของ GPSC จะอยู่ที่ระดับที่สูงกว่า 5.5 เท่า ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จากค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่สูง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตโดยลำพังของ GPSC อยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตของ NNEG เนื่องจาก GPSC มีสถานะทางธุรกิจที่ดีกว่า เนื่องจากมีการกระจายตัวของทรัพย์สินที่สูงกว่า และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สูง NNEG อย่างมีนัยสำคัญ

สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:

  • รายได้รวมอยู่ที่ระดับ 6.7-7 หมื่นล้านบาทในปี 2564-2567 (ปี 2563 อยู่ที่ 6.6 หมื่นล้านบาท)
  • EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) อยู่ที่ระดับร้อยละ 28 ในช่วงปี 2564-2567(ปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 28.5)
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนรวมประมาณ 94 หมื่นล้านบาท ในช่วงปี 2564-2567 รวมการลงทุนเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศอินเดีย และโครงการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งในประเทศไต้หวัน
  • จ่ายเงินปันผลร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิ

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

  • ระดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท กับ ปตท. ที่เพิ่มสูงขึ้น
  • การเพิ่มอันดับเครดิตโดยลำพังของบริษัท ยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสองถึงสามปีข้างหน้า เนื่องจากบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง หลังจากมีการเข้าซื้อกิจการที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามฟิทช์อาจพิจารณาปรับเพิ่มอันดับเครดิตโดยลำพังของ GPSC หากอัตราส่วน FFO net leverage ลดลงต่ำกว่า 5.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยลบ:

  • อัตราส่วนหนี้สินที่ลดลงช้ากว่าที่ฟิทช์คาด เนื่องจากเงินลงทุนที่สูงกว่าที่คาด หรือกระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่ำกว่าที่คาด ซึ่งส่งผลให้ FFO net leverage ของบริษัทอยู่ในระดับสูงกว่า 6.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง
  • สถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอลงจากการลงทุนในโครงการที่มีความเสี่ยงด้านการดำเนินงานสูง
  • ระดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท กับ ปตท. ที่ลดน้อยลง
  • อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิอาจถูกปรับลดจากอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัท หากอัตราส่วน prior-ranking debt to EBITDA เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง (ณ สิ้นปี 2563 เท่ากับ 2.0 เท่า)

สภาพคล่อง

สภาพคล่องที่เพียงพอ: บริษัทฯ มีหนี้ทั้งหมด 101.4 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งประกอบด้วย มีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระภายในปี 2564 จำนวน 11.7 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ สภาพคล่องของบริษัทฯได้รับการสนับสนุนจากเงินสดหรือเทียบเท่า จำนวน 22.4 หมื่นล้านบาท ณ สิ้น ปี 2563 วงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และการสนับสนุนด้านการเงินจาก ปตท. ซึ่งรวมถึง วงเงินเงินกู้ยืมจำนวน 2 หมื่นล้านที่ได้รับเพิ่มเติมในเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อรองรับการลงทุนในต่างประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top