SCGP คาดปิดดีล M&P Intan Group-Deltalab ใน Q3/64 งบลงทุน 5 พันลบ.หนุนรายได้โต

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เปิดเผยว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อควบรวมกิจการหรือการร่วมทุนกับพันธมิตร (Merger&Partnership : M&P) เพิ่มเติมอีก 2 บริษัท ได้แก่ PT Indonesia Dirtajaya Aneka Industri Box, PT Bahana Buana Box และ PT Rapipack Asritama (Intan Group) ประเทศอินโดนีเชีย และ Deltalab, S.L (Deltalab) ประเทศสเปน คาดว่าจะสามารถปิดดีลดังกล่าวได้ภายในไตรมาส 3/64 และจะใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้นราว 5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ก่อนหน้านี้แล้วว่า บริษัท ได้ลงนามในสัญญาเพื่อเข้าถือหุ้น 75% ใน Intan Group ประเทศอินโดนีเซีย โดยธุรกรรมดังกล่าวจะดำเนินการผ่านบริษัทย่อย TCG Solutions Pte.Ltd. ที่ถือหุ้นทั้งหมดโดยบริษัท กลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด (TCG) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง SCGP และ Rengo Company Limited ประเทศญี่ปุ่นที่ถือหุ้นในสัดส่วน 70:30 ตามลำดับ คาดว่าจะดำเนินการในธุรกรรมดังกล่าวเสร็จสิ้นในไตรมาส 3/64

Intan Group เป็นหนึ่งในผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกในอินโดนีเซีย โดยมีรายได้ในปี 63 อยู่ที่ 1,329 พันล้านรูเปียห์ (ประมาณ 94 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ หรือ 3,057 ล้านบาท) ซึ่งการเข้าซื้อกิจการ Intan Group ในครั้งนี้ถือเป็นการขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษของ SCGP ในอินโดนีเซีย ที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า

นอกจากนี้ ยังได้ลงนามในสัญญาซื้อหุ้นในสัดส่วน 85% ใน Deltalab, S.L (Deltalab) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ ด้านวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical Supplies and Labware) ที่จดทะเบียนในประเทศสเปน โดย SCGP คาดว่าจะเข้าทำธุรกรรมเสร็จสิ้นได้ประมาณปลายไตรมาส 3/64 เพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งจะช่วยยกระดับฐานลูกค้าและผลิตภัณฑ์ของ SCGP รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถ การให้บริการสู่ระดับโลก

นายวิชาญ กล่าวว่า หากบริษัทฯ สามารถปิดดีล M&P ดังกล่าวได้สำเร็จ จะส่งผลให้มีบริษัทที่เกิดจาการทำ M&P ในปีนี้รวมทั้งสิ้น 5 บริษัท ได้แก่ Duy Tan, Go-Pak, SOVI, Intan และ Deltaleb ซึ่งบริษัทฯ ได้ประเมินว่า 5 บริษัทดังกล่าวนี้จะเข้ามาสนับสนุนรายได้ให้กับ SCGP ประมาณ 18,000 ล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทมั่นใจว่ารายได้จะเติบโตมากกว่า 100,000 ล้านบาท เป็นไปตามความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์และการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรปฟื้นตัว ประกอบกับ การขยายธุรกิจผ่านการทำ M&P คาดว่าจะจะสนับสนุนรายได้ราว 18,000 ล้านบาท และการขยายกำลังการผลิต ได้แก่ การขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากกระดาษเพิ่มขึ้นอีก 1,838 ล้านชิ้นต่อปี ที่ประเทศไทยและประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 3/64 รวมถึงการขยายกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในฟิลิปปินส์อีก 220,000 ตันต่อปี คาดจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/64 และการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์แบบอ่อนตัวในประเทศไทยอีก 53 ล้านตารางเมตรต่อปี ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 4/64 เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้คาดจะสนับสนุนรายได้ราว 11,000 ล้านบาท

“แม้สถานการณ์โควิด-19 ยังเป็นปัจจัยที่กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจอยู่ แต่ธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ถือเป็นกลุ่มสำคัญต่อการบริโภค ซึ่งดูตัวเลขยอดขายในประเทศสหรัฐฯ ก็เริ่มฟื้นตัวเกือบเท่าระดับก่อนมีโควิด-19 แล้วและในยุโรปก็คาดว่าจะฟื้นตัวตามมาได้เร็วๆ นี้ ทำให้คาดว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจในครึ่งปีหลัง” นายวิชาญ กล่าว

ขณะที่ผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 57,148 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไร 4,398 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วน EBITDA (กำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ไม่รวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม และรวมกำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกู้ยืม) อยู่ที่ 10,831 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในปีนี้บริษัทยังคงงบลงทุนไว้ที่ 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นใช้ในการ Maintenance จำนวน 4,000 ล้านบาท, การลงทุนใน Go-Pak, Duytan & brownfield Projects ราว 11,000 ล้านบาท และอีก 5,000 ล้านบาทจะใช้ในการลงทุนในการทำ M&P ในไตรมาส 3/64 หลังจากครึ่งปีแรกบริษัทใช้เงินลงทุนไปแล้ว 6,300 ล้านบาท โดยยืนยันว่าสถานะทางการเงินของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง จากมีเงินสดในมืออยู่กว่า 30,000 ล้านบาท และมีหนี้สินต่อทุน (D/E) ในระดับต่ำ หากมีการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มเติมก็สามารถดำเนินการได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top