นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุขและผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม กล่าวถึงความคืบหน้าการให้บริการของโรงพยาบาลบุษราคัม ว่า โรงพยาบาลบุษราคัม ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ทุกกลุ่มอายุ รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง ชาวไทยและต่างด้าว ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 จนถึงปัจจุบันมี 3,700 เตียง เป็นเตียงสำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้ออกซิเจน 800 จุด และให้การดูแลรักษาผู้ป่วยแล้ว 12,929 ราย หายป่วยกลับบ้านประมาณ 9,000 ราย โดยเดือนกรกฎาคมผู้ป่วยเพิ่มสูงถึงเกือบ 9,000 ราย ยังรักษาอยู่ 3,500 ราย ในจำนวนนี้อาการรุนแรง ต้องใช้ออกซิเจนกว่า 750 จุด ขณะนี้ได้สั่งซื้อเครื่องช่วยหายใจเพิ่มอีก 550 เครื่องรองรับตามการคาดการณ์จำนวนผู้ป่วย และจัดตั้งหอไอซียูระบบความดันลบ 17 เตียง ดูแลผู้ป่วยวิกฤติอาการหนัก โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและพยาบาลไอซียู รวมทั้งจัดทำช่องทางด่วนพิเศษ (Fast Track) ในกลุ่มผู้ป่วยเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วยติดเตียง เพื่อตรวจคัดกรองและเข้ารับการรักษา
นายแพทย์กิตติศักดิ์กล่าวต่อว่า ตั้งแต่เปิดบริการมีเจ้าหน้าที่จากทั่วประเทศ อาทิ แพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง พยาบาล เภสัชกร ผู้ช่วยเหลือคนไข้ นักรังสีแพทย์ พนักงานเปล พนักงานขับรถ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาปฏิบัติงานกว่า 1,800 คน และทีมรับส่งต่อผู้ป่วย โดยปฏิบัติงานวันละ 300 คน เป็นพยาบาล 200 คน เวรละประมาณ 50-60 คน เข้าไปให้การรักษาพยาบาลวันละ 5 รอบ ทำให้ภาระงานหนักมาก จึงได้ปรับลดกระบวนการทำงานและการตรวจที่ไม่จำเป็น การตรวจแยกกลุ่มผู้ป่วย เจาะเลือดกลุ่มสีเหลือง และให้ยารักษาตั้งแต่จุดแรกรับผู้ป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็วขึ้นด้วย
รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเป็นจิตอาสาดูแลผู้ป่วยกลุ่มละ 18 คน เช่น วัดความดัน วัดออกซิเจนในเลือด ประสานข้อมูลและสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ป่วยรวมถึงเป็นอาสาสมัครดูแลเรื่องต่าง ๆ เช่น การทำความสะอาดห้องน้ำ เคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิต ช่วยแบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่ได้อย่างมาก
สำหรับเรื่องมาตรฐานการรักษาของโรงพยาบาลบุษราคัม ยืนยันว่าเป็นไปตามแนวทางของกรมการแพทย์ โดยผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย รักษาหายแล้วครบ 7 – 10 วัน สามารถให้กลับไปกักตัวที่บ้านต่อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างรุนแรง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยอาการหนักเข้ารับการรักษา และเมื่อรักษาครบ 14 วันจะไม่มีการตรวจหาเชื้อซ้ำ เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีซากเชื้ออยู่ และถือว่าหายจากโรคแล้ว
โรงพยาบาลยินดีรับคำติชมอย่างสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาบริการ คุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยเสมอ ขอให้ช่วยกันสื่อสารทางบวก เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีกำลังใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การถ่ายภาพต่าง ๆ ภายในพื้นที่โรงพยาบาล การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หรือผู้ป่วย โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำที่ไม่ถูกกฎหมาย ตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ทั้งนี้ จะเปิดเฟซบุ๊ค แฟนเพจ โรงพยาบาลบุษราคัม เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารการบริการต่าง ๆ ในสัปดาห์หน้า
“ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกท่าน แม้ภูมิภาคจะมีภาระงานในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่กลับภูมิลำเนา แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ยังคงมีจิตอาสามาช่วยงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่แบคออฟฟิศที่มาช่วยงานเอกสาร กองทัพไทยส่งทหารมาร่วมประกอบเตียง เคลื่อนย้ายผู้ป่วย ส่งอาหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจที่คอยดูแลการจราจร และความปลอดภัยตลอด 24 ชม. รวมทั้งอาสาสมัคร จิตอาสาที่ช่วยดูแลผู้ป่วยแบ่งเบาภาระงานเจ้าหน้าที่”นายแพทย์กิตติศักดิ์กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ก.ค. 64)
Tags: COVID-19, กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์, ห้องความดันลบ, ห้องไอซียู, โควิด-19, โรงพยาบาลบุษราคัม, โรงพยาบาลสนาม