พาณิชย์ เผยจีนเตรียมยกเลิกเก็บภาษีศุลกากรสินค้าส่งออกของไทยเพิ่มอีกจำนวนมาก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การเข้าสู่ตลาดจีนภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพิ่มเติมจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยมีกับจีนอยู่แล้ว 1 ฉบับ คือ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) โดยภายใต้ความตกลง RCEP จีนจะยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทย คิดเป็นสัดส่วน 90.5% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด ซึ่งจำนวนสินค้าที่จะยกเลิกภาษีทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้คิดเป็น 67.9% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด ส่วนที่เหลือจะทยอยยกเลิกในลำดับต่อไป

นอกจากนี้ยังมีสินค้า 33 รายการที่จีนยกเลิกภาษีศุลกากรให้ไทยเพิ่มเติมจาก ACFTA ซึ่งมีทั้งที่จะยกเลิกทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้และทยอยลดภาษีเหลือ 0% ภายใน 10-20 ปี

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สินค้าที่จีนยกเลิกภาษีศุลกากรให้ไทยเพิ่มเติมจาก ACFTA ครอบคลุมสินค้าเกษตรศักยภาพของไทยหลายรายการ เช่น น้ำมะพร้าว น้ำสับปะรด สับปะรดปรุงแต่ง อาหารปรุงแต่ง และสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกหลักของไทย ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ยางสังเคราะห์ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่างหรือให้สัญญาณสำหรับยานยนต์ ชุดสายไฟสำหรับยานยนต์ ผลิตภัณฑ์จากกระดาษ เครื่องยนต์ ที่ปรับกระจกในรถยนต์ และเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ นอกจากนี้จีนยังได้เปิดตลาดให้กับสินค้าอื่นๆ ของไทยเป็นการเพิ่มเติม ภายใต้ความตกลง RCEP เช่น พริกไทย น้ำมันเบาและสิ่งปรุงแต่ง และแผ่นไวแสงและฟิล์มที่ใช้ในการถ่ายรูป

สำหรับกรอบ ACFTA จีนได้ยกเลิกภาษีให้ไทย 94.8% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด โดยสัดส่วนการเปิดตลาดการค้าสินค้าสูงกว่ากรอบ FTA กับคู่ภาคีอื่นๆ ของอาเซียน ยกเว้นกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) จึงส่งผลให้จำนวนสินค้าที่จีนนำมายกเลิกภาษีศุลกากรเพิ่มเติมให้ไทยใน RCEP มีไม่มากนักประมาณ 33 รายการ แต่ผู้ประกอบการไทยจะได้ประโยชน์จากการเพิ่มโอกาสสะสมถิ่นกำเนิดในเครือข่ายการผลิตสินค้าใน RCEP ซึ่งสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ ใช้เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกัน ทำให้มีความสอดคล้องและยืดหยุ่นมากขึ้น เมื่อเทียบกับเกณฑ์สะสมถิ่นกำเนิดภายใต้กรอบ ACFTA

นอกจากนี้ ยังสามารถสะสมวัตถุดิบในการผลิตได้จากหลายแหล่งมากขึ้น ทั้งในและนอกภูมิภาค RCEP และหากผู้ประกอบการมีกระบวนการผลิตที่ทำให้สินค้าผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าได้ เช่น การเปลี่ยนสภาพวัตถุดิบจะส่งผลให้เปลี่ยนพิกัดศุลกากรในระดับ 4 หลัก ซึ่งจะสามารถใช้วัตถุดิบจากประเทศนอกภูมิภาค RCEP ได้ด้วย และใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีส่งออกไปยังตลาดจีนได้

ทั้งนี้ ในปี 2563 จีนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทย การค้าระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 79,743.3 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปจีน 29,534.0 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากจีน 50,209.3 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค.-พ.ค.64) การค้าระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 40,553.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 27.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปจีน 14,663.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 22.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

และไทยนำเข้าจากจีน 25,890.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 30.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น ยางสังเคราะห์ ทุเรียน ไม้ยางพารา รถยนต์ความจุของกระบอกสูบเกิน 2,500 ลบ.ซม. ส่วนประกอบอุปกรณ์เชิงทัศนศาสตร์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ แป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทย เช่น เครื่องโทรศัพท์ แล็ปท็อป วงจรพิมพ์ จานบันทึกแบบแข็งและแผ่นบันทึกสำหรับคอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบเครื่องจักร เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ส.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top