สธ.ย้ำการซื้ออาหารในห้างตั้งแต่ 3 ส.ค.ต้องสั่งผ่านออนไลน์-เดลิเวอรี่เท่านั้น

น.พ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า มาตรการที่ใช้กับร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้าต่างๆ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 64 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดนั้น จะให้จำหน่ายอาหารผ่านช่องทางเดลิเวอรี่เท่านั้น โดยจะไม่มีการจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการติดต่อระหว่างผู้จำหน่าย และผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคมีความประสงค์ซื้ออาหารจากร้านค้าโดยตรง ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์นั้นๆ รวมถึงสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ต้องสามารถจัดให้มีเดลิเวอรี่เซอร์วิส โดยมีระบบการสั่งผ่านทั้งระบบออนไลน์ ระบบโทรศัพท์ หรือระบบพนักงานให้ความช่วยเหลือ ที่ไม่ให้ผู้บริโภคไปซื้ออาหารกับผู้จำหน่ายโดยตรง ซึ่งการดำเนินการลักษณะนี้ ได้มีการดำเนินการตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่มีการปิดห้างสรรพสินค้า แต่อนุญาตให้ร้านอาหารมีการจำหน่าย แต่เป็นการจำหน่ายที่ไม่ให้ผู้บริโภคไปแออัดอยู่ที่หน้าร้านโดยตรง

“มาตรการต่างๆ ที่ออกมา ส่งผลกระทบต่อประชาชน แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากเกินกว่าที่ความสามารถของระบบสาธารณสุขจะรองรับไหว จึงต้องขอความร่วมมือจากประชาชนด้วยการออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยชะลอจำนวนผู้ติดเชื้อ ในขณะเดียวกันทางภาครัฐก็อยู่ระหว่างการพิจารณาการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นควบคู่ไปด้วย”

น.พ.สุวรรณชัย กล่าว

ทั้งนี้ มาตรการควบคุมที่ใช้กับร้านอาหารที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 64 ที่ทุกพื้นที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ราชการกำหนด ได้แก่

  • พื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด (จำนวน 29 จังหวัด) ห้ามบริโภคอาหารภายในร้าน จำหน่ายอาหารแบบนำไปบริโภคที่อื่น ในห้างสรรพสินค้าจำหน่ายได้เฉพาะเดลิเวอรี่ (Delivery Service) และงดจำหน่ายหน้าร้าน โดยระยะเวลาให้บริการไม่เกิน 20.00 น. ทั้งนี้ห้ามการบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
  • พื้นที่ควบคุมสูงสุด (จำนวน 37 จังหวัด) สามารถนั่งบริโภคในร้านได้ตามปกติ โดยระยะเวลาให้บริการไม่เกิน 23.00 น. ทั้งนี้ห้ามการบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
  • พื้นที่ควบคุม (จำนวน 11 จังหวัด) นั่งบริโภคในร้านได้ตามปกติ โดยระยะเวลาให้บริการสามารถเปิดได้ตามปกติภายในกำหนดเวลาปกติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ห้ามการบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน

โดยมาตรการป้องกันโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์ ได้แก่ 1. จัดให้มีระบบการคัดกรอง 2. ตรวจสอบการลงทะเบียนผู้ขนส่งอาหาร ก่อนเข้ามาในอาคารหรือพื้นที่ 3. การจัดระบบคิว 4. กำหนดพื้นที่เป็นเฉพาะสำหรับการรอคิว 5. มีบริเวณพักคอย ซึ่งมีการเว้นระยะห่างระหว่างที่นั่งหรือยืนที่เหมาะสม และ 6. ต้องกำกับดูแลให้มีการดำเนินมาตรการดังกล่าว

ด้านมาตรการสำหรับร้านอาหาร หรือห้างสรรพสินค้า ที่จัดบริการเดลิเวอรี่ มีข้อปฎิบัติตนดังนี้ จัดเส้นทางเข้า-ออก ที่ชัดเจน กำหนดจุดคัดกรอง และลงทะเบียน หากมีอาการป่วยให้หยุดงานและไปพบแพทย์, สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องตลอดเวลา, ล้างมือให้ถูกต้อง และมีจุดบริการล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์, งดการรวมกลุ่ม, อาหารต้องปรุงสุกใหม่ โดยเนื้อสัตว์ต้องปรุงให้สุกด้วยความร้อน 70 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานเกิน 5 นาทีขึ้นไป, จัดหาภาชนะ หรือบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท และต้องปกปิดมิดชิด, มีการติดฉลากที่ระบุรายละเอียดอย่างชัดเจน เช่น ชื่อร้าน วันหมดอายุ, ร้านอาหารต้องประเมิน Thai Stop COVID Plus และติดประกาศชัดเจน, จัดสถานที่เหมาะสม มีโต๊ะรับ-ส่งอาหารที่เว้นระยะห่าง และมีการระบายอากาศที่ดี และทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ โต๊ะรับ-ส่งอาหารทุกครั้งหลังการรับส่งอาหาร

ส่วนมาตรการสำหรับพนักงานจัดส่งอาหาร มีข้อปฎิบัติ ดังนี้ คัดกรองและประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID Plus และบันทึกข้อมูล หากมีอาการป่วยให้หยุดงานและไปพบแพทย์ทันที, กล่องบรรจุอาหารท้ายยานพาหนะแข็งแรง ปกปิดมิดชิด และทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนปฏิบัติงาน, สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องตลอดเวลา, ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์, รอรับอาหารในจุดที่ร้านกำหนด, งดการรวมกลุ่ม พูดคุย สูบบุหรี่ และเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ณ จุดพักคอย, ตรวจสอบกล่องบรรจุอาหารทันทีหลังได้รับจากร้านอาหาร เช่น ความสะอาด, ไม่เปิดกล่องบรรจุอาหารจนกว่าจะถึงมือผู้สั่งซื้อ และก่อนเปิดกล่องทุกครั้งต้องล้างมือให้สะอาด และทำความสะอาดมือ และถุงมือก่อนและหลังการรับ-ส่งอาหาร

ทั้งนี้ สำหรับปัญหาพนักงานจัดส่งอาหารที่มีพฤติกรรมรวมกลุ่ม พูดคุย สูบบุหรี่ และไม่สวมหน้ากากอนามัย ที่ส่งผลต่อความกังวลของผู้บริโภคต่อความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในส่วนของพนักงาน Full Time ผู้ประกอบการจะมีความเข้มงวดต่อมาตรการในระดับหนึ่งแล้ว แต่ในส่วนของพนักงาน Part Time อาจเกิดปัญหาการละเลยได้ อย่างไรก็ตาม ได้มีบทลงโทษจากข้อกำหนดตามมาตรา 9 ร่วมกับพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ที่กำหนดไว้ว่ากรณีที่อยู่นอกเคหะสถาน แล้วไม่สวมหน้ากากอนามัยจะมีความผิด

ด้านคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้มีการออกระเบียบตามมาตรา 34 (6) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 64 ว่าด้วยการกำหนดความผิดจากการรวมกลุ่ม ไม่ใส่หน้ากาอนามัย พูดคุย สูบบุหรี่ หรือทำกิจกรรมนันทนาการต่างๆ ร่วมกัน โดยหากมีความผิดครั้งแรก มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ครั้งที่สองมีโทษปรับไม่เกิน 1,000-10,000 บาท และครั้งที่สามมีโทษปรับไม่เกิน 10,000-20,000 บาท ซึ่งเจ้าคณะกรรมการตามกฎหมาย และคณะกรรมการโรคติดต่อของกทม. และจังหวัด มีหน้าที่ควบคุมให้เป็นไปตามประกาศดังกล่าว

ในส่วนของมาตรการสำหรับผู้สั่งซื้อ หรือผู้รับบริการ มีข้อปฎิบัติ ดังนี้ หลีกเลี่ยงการสั่งอาหารเสี่ยง เช่น อาหารปรุงไม่สุก อาหารเสียง่าย, ชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน หลีกเลี่ยงการชำระเงินสด หรือการสัมผัสกับคนส่งอาหาร, มีจุดหรือภาชนะ สำหรับรับอาหาร เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร, สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องระหว่างการรับอาหาร และหลีกเลี่ยงการพูดคุย, ล้างมือด้วยสบู่หรือ เจลแอลกอฮอล์ ก่อนและหลังได้รับอาหาร, ตรวจสอบคุณภาพอาหารก่อนรับอาหาร หรือก่อนบริโภค เช่น การบรรจุหีบห่อ กลิ่นอาหาร ความสะอาด และรีบนำอาหารออกจากบรรจุภัณฑ์ที่น่าส่งมาใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้ทันที

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top