“ประวิตร” ย้ำทุกหน่วยพร้อมรับมือฝนภาคกลาง-รอยต่อกทม. นัดประชุม กอนช. 13 ส.ค.

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรการรับมือน้ำหลากช่วงฤดูฝน ในพื้นที่ภาคกลาง และจุดเชื่อมต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแหงชาติ (กอนช.) พร้อมเร่งรัดโครงการศึกษาการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำบางปะกง ว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำบางปะกง เป็นลุ่มน้ำสำคัญที่มีความเกี่ยวเนื่องกันในการระบายน้ำของพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ ซึ่งมีคลองแสนแสบเป็นเส้นทางน้ำสายหลัก ที่ควบคุมการระบายน้ำจากพื้นที่กรุงเทพฯ (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา) ลงสู่แม่น้ำบางปะกง (ลุ่มน้ำบางปะกง) โดยใช้สถานีสูบน้ำ-ประตูระบายน้ำหนองจอก และประตูระบายน้ำบางขนาก เพื่อให้การระบายน้ำในพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากปีนี้

กรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรมชลประทาน ได้ร่วมกันบริหารจัดการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน อาทิ ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขุดลอกคลอง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ สร้างความมั่นใจให้ประชาชน ซึ่ง สทนช.จะรวบรวมประเด็นปัญหาอุปสรรค หรือจุดที่ยังเป็นช่วงโหว่ในการบริหารในช่วงฤดูน้ำหลากนี้ในจุดเสี่ยงทั้งน้ำหลาก และขาดแคลนน้ำในช่วงครึ่งหลังของฤดูฝนนี้ เข้าสู่ที่ประชุม กอนช. ในวันที่ 13 ส.ค. โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม

นอกจากมาตรการต่าง ๆ ที่ทุกหน่วยงานบูรณาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ร่วมกันแล้ว สทนช. ยังเร่งรัดผลศึกษาการจัดทำผังน้ำ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับปรุงระบบเส้นทางน้ำ การจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำบางปะกง ทั้งจัดการน้ำหลาก เก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ช่วยแล้ง รวมถึงด้านคุณภาพน้ำด้วย โดยกำหนดรหัสโซนลำน้ำสายหลัก เช่น คลองแสนแสบ คลองบางขนาก คลองนครเนื่องเขต เป็นพื้นที่ทางน้ำหลากริมแม่น้ำ (ลน.) ที่ต้องสงวนให้เป็นที่ว่างริมน้ำ โดยมีระยะจากขอบตลิ่งทางน้ำไม่น้อยกว่า 6 เมตร เว้นแต่ทางน้ำที่ไหลผ่านเขตชุมชน ซึ่งมีการก่อสร้างคันกั้นน้ำไว้แล้ว เพื่อรองรับการบำรุงรักษาและดูแลทางน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อบรรเทาสถานการณ์ในกรณีฉุกเฉิน รวมถึงรองรับการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายน้ำในอนาคต

ซึ่งการเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพฯ ชั้นในลงสู่แม่น้ำบางปะกง จำเป็นต้องปรับปรุงสถานีสูบน้ำบางขนาก ให้มีศักยภาพการระบายน้ำได้สูงสุด 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยลดปริมาณน้ำหลากที่จะไหลลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง พร้อมกับรับน้ำที่มาจากคลอง 13-17 ที่อยู่ทางตอนบนด้วย เมื่อปรับปรุงแล้วเสร็จ จะช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมให้กับจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสมุทรปราการ รวมไปถึงกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ส่วนสถานีสูบน้ำ-ประตูระบายน้ำหนองจอก และสถานีสูบน้ำ-ประตูระบายน้ำบางขนาก ยังมีประโยชน์ในด้านการควบคุมคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบให้เหมาะสมกับการใช้น้ำในภาคการเกษตร และการใช้น้ำในพื้นที่ชุมชนริมฝั่งคลอง โดยปัญหาการบริหารจัดการน้ำในคลองแสนแสบถือเป็นนโยบายเร่งด่วนตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประวิตร ที่ให้ สนทช. จัดทำแผนฟื้นฟูคลองแสนแสบเป็นการเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาให้คนกรุงเทพฯ โดย กทม.ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย และระบบบำบัดน้ำเสียมีนบุรี เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองต่าง ๆ ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ในเขตมีนบุรี และเขตลาดกระบัง ปัจจุบันคืบหน้าแล้วประมาณ 18% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 66

นายสมเกียรติ กล่าวว่า สทนช. ได้วางเป้าหมายในการศึกษาและจัดทำผังน้ำ 22 ลุ่มน้ำให้แล้วเสร็จภายในปี 67 โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ปี 2563 – 2564 ดำเนินการศึกษาจัดทำผังน้ำที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน 8 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำชี มูล บางปะกง แม่กลอง สะแกกรัง ป่าสัก เจ้าพระยา และท่าจีน

ปี 2564 – 2565 ดำเนินการศึกษาฯ 6 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน

ปี 2566 – 2567 อีก 8 ลุ่มน้ำที่เหลือ ได้แก่ ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ชายฝั่งตะวันออก ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก และลุ่มน้ำโตนเลสาบ

ปัจจุบันการศึกษาจัดทำผังน้ำ 8 ลุ่มน้ำ ที่ดำเนินการตั้งแต่ 2562 จะแล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ในเดือนกันยายนนี้ ผลการศึกษาเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผังน้ำที่ต้องการให้การบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศเกิดเอกภาพและเป็นระบบ มีการวางผังทางน้ำและทิศทางการไหลของทางน้ำทั้งระบบ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย แผนแม่บท และแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำ พร้อมทั้งนำผังน้ำไปเชื่อมโยงกับผังเมืองตามกฎหมายว่าด้วยผังเมือง เพื่อใช้เป็นกรอบในการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินและการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำในภาพรวมของประเทศให้เกิดประสานสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบต่อไปได้

“การใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบทางน้ำตามผังน้ำ จะต้องไม่ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำ หรือกระแสน้ำหรือสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำในระบบทางน้ำ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ส.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top