ดัชนีเชื่อมั่นโมเดิร์นเทรด Q2/64 ลดต่อเนื่อง กังวลโควิด-ล็อกดาวน์-กำลังซื้อหด

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรด (Modern Trade Sentiment Index : MTSI) ประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2564 อยู่ที่ระดับ 45.3 ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ระดับ 46.3 ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 3 ที่มีการระบาดเป็นวงกว้างและรวดเร็ว จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน และผู้เสียชีวิตที่สูงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และบริการต่างๆ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด โดยรัฐบาลปิดสถานประกอบการบางประเภท การขอให้ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ Work From Home ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจประสบปัญหา หรือแรงงานขาดรายได้

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบอื่นๆ เช่น ความกังวลต่อแผนการกระจายวัคซีนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์โควิด-19 ยืดยาวออกไป, เสถียรภาพด้านการเมืองที่ไม่มั่นคง นำมาซึ่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI), การแข่งขันของธุรกิจ E-commerce, ภาระหนี้สินของครัวเรือน, อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับที่สูง ส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศ และสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ทำให้การบริโภคยังไม่มีการขยายตัว

ขณะที่ปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนี MTSI ได้แก่

  1. ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 เช่น โครงการคนละครึ่ง, เราชนะ, ม.33 เรารักกัน, เราเที่ยวด้วยกัน และโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและประคับประคองเศรษฐกิจไทย
  2. การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เริ่มเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ตลอดจนการฉีดวัคซีนของทั้งโลกทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในระดับโลกปรับตัวดีขึ้น
  3. มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ
  4. การขยายตัวของธุรกิจ E-commerce
  5. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ต่อปี

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลที่ต้องการให้ช่วยแก้ไขปัญหา ดังนี้

  1. เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชนให้ครอบคลุมมากที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่สาคัญทางเศรษฐกิจ
  2. สร้างความเชื่อมั่นในมาตรการป้องกันโควิด-19 และให้บริการตรวจเช็คโรคโควิด-19 กระจายสู่ประชาชนโดยทั่วทุกภูมิภาคให้เร็วที่สุดและมากที่สุด โดยเฉพาะเขตหรือจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมาก
  3. รัฐบาลควรมีมาตรการดูแลและตรวจสอบร้านค้าที่ขึ้นราคาสินค้าแบบไม่มีเหตุผลในช่วงสถานการณ์โควิด เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน
  4. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการใช้จ่าย ขอให้นำมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” กลับมาใช้ และเพิ่มวงเงินเป็น 100,000 บาท โดยไม่จำกัดหมวดสินค้า

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการยังมีข้อเสนอแนะด้านนโยบาย หรือมาตรการที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ Modern Tradeโดยรวม ดังนี้

  1. เร่งเรื่องดำเนินการฉีดวัคซีน การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
  2. ปรับแผนประชาสัมพันธ์รณรงค์ใช้สินค้าไทยที่ผลิตโดยคนไทยที่ได้มาตรฐาน ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ,OTOP
  3. รัฐบาลควรส่งเสริมการขายในรูปแบบอนไลน์มากขึ้น โดยอาจมีมาตรการทางภาษี หรืองบประมาณสนับสนุนในการลดค่าใช้จ่ายด้านกระจายสินค้าให้กับผู้ประกอบการ เพื่อไม่ให้ราคาสินค้าสูงเกินไปจากค่าขนส่งสินค้า เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในขณะนี้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนี MTSI ในไตรมาส 2/64 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 45.3 นี้ นับเป็นค่าดัชนีที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี หรือ 12 ไตรมาส นับตั้งแต่ที่จัดทำการสำรวจมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 61 ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีธุรกิจค้าปลีกมียอดขายที่หดหายไปแล้วถึง 2.7 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ในภาวะปกติ ดัชนี MTSI จะเป็นดัชนีที่เติบโตตามการฟื้นตัวของระดับเศรษฐกิจและสังคมเมือง ดังนั้นจากการระบาดของโควิดที่มากขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 64 ซึ่งได้สร้างความเสียหายต่อมูลค่าเศรษฐกิจไปแล้วกว่า 5-8 แสนล้านบาทนั้น จึงทำให้ดัชนี MTSI ลดต่ำลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการค้าปลีกเอง ยังมองว่าแนวโน้มในไตรมาส 3 สถานการณ์ก็จะยังคงไม่ดีต่อเนื่อง

ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ขณะนี้เริ่มกลับมาชุมนุมกันนั้น อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในเรื่องของการจับจ่ายใช้สอย เพราะหากประกอบกับสถานการณ์โควิดที่ยังไม่คลี่คลาย ภาวะเศรษฐกิจซึมตัวลง ก็คาดว่าจะทำให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ซึมตัวต่อเนื่อง แต่หากรัฐบาลสามารถแก้ไขสถานการณ์ทั้งด้านการเมือง และควบคุมการระบาดได้ดีขึ้น ก็จะเห็นภาพเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ที่รอการฟื้นตัว และอาจจะเริ่มพลิกกลับมาในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ได้

ด้านนายสุรงค์ บูลกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมการกลุ่มค้าปลีกและบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการประเมินมูลค่าผลกระทบของธุรกิจค้าปลีกจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี รวมถึงมาตรการควบคุมการระบาดที่มีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งนำมาสู่การล็อกดาวน์ในพื้นที่ 29 จังหวัดนั้น ได้ส่งผลต่อยอดขายของธุรกิจค้าปลีกให้ลดลงไปแล้วกว่า 2.7 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจค้าปลีกเห็นว่า ผลกระทบจากสถานการณ์โควิดได้แพร่กระจายเป็นวงกว้าง และกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของการค้าปลีกที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ จึงต้องการขอให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือกลุ่มค้าปลีก

โดยเฉพาะผู้ค้าปลีกรายย่อยอย่างเร่งด่วน ดังนี้

  1. ขอให้รัฐบาลสนับสนุนโครงการ Co Payment กับผู้ค้ารายย่อย เพื่อช่วยรักษาสภาพคล่องให้แก่ร้านค้ารวมถึงการจ้างงาน
  2. ขอให้รัฐบาลขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีที่ดิน และภาษีการค้าไปถึงปี 65 เพื่อช่วยผู้ประกอบการยังมีเงินหล่อเลี้ยงธุรกิจ
  3. ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือค่าสาธารณูปโภคแก่ผู้ค้าปลีก เนื่องจากค่าสาธารณูปโภคเป็นต้นทุนคงที่ถึง 70% ของต้นทุนรวม
  4. ขอให้รัฐบาลพิจารณาผ่อนคลายมาตรการให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์ เนื่องจากมีมาตรการล็อกดาวน์ในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อให้ระบบซัพพลายเชนของธุรกิจค้าปลีกสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ส.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top