สธ. แจงถอนงานวิจัยฟ้าทะลายโจรไม่เกี่ยวสรรพคุณใช้รักษาโควิด

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงกรณีนักวิจัยไทยได้ทำการขอถอนงานวิจัยฟ้าทะลายโจรกลับมาเป็นการชั่วคราว เนื่องจากพบข้อผิดพลาดเรื่องตัวเลขเล็กน้อย และจะเสนอกลับเข้าไปใหม่ว่า ทางทีมนักวิจัยของไทยเป็นผู้ตรวจพบความผิดพลาดของสถิติหนึ่งจุดดังกล่าว และขอถอนงานวิจัยออกมาเอง โดยไม่ได้ถูกปฏิเสธหรือถูกส่งคืนกลับมาจากวารสารการแพทย์ ซึ่งผลการวิจัยเนื้อหาเกือบทั้งหมดยังคงเป็นไปตามรายงานฉบับแรกที่ถอนกลับมา ทั้งนี้เมื่อได้ปรับปรุงตัวเลขดังกล่าวให้ถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ก็จะส่งกลับไปตีพิมพ์ที่วารสารเดิมต่อไป ซึ่งถือว่าสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรของไทยยังมีแนวโน้มที่ดีที่จะได้ผลในการป้องกันผู้ติดโควิดไม่ให้เกิดปอดอักเสบ และสามารถใช้งานต่อไปได้

ทั้งนี้ ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ทดลองใช้สารสกัดจากฟ้าทะลายโจร ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อย ซึ่งมีแนวโน้มที่ได้ผลดี โดยเฉพาะลดการพัฒนาของโรคไม่ให้เดินหน้ารุนแรงขึ้นจนมีปอดอักเสบ โดยการทดลองแบบสุ่มโดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ (Randomized Controlled Trial: RCT) ใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจร (APE : Andrographis Paniculata Extract) ในผู้ป่วยโควิดอาการเล็กน้อย อายุ 18-60 ปี โดยยืนยันการตรวจพบเชื้อไวรัสด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR ผลการทดลองพบว่า

1. ไม่พบอาการปอดอักเสบเลยในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร 29 ราย แต่พบอาการปอดอักเสบในกลุ่มยาหลอก 3 ราย จาก 28 ราย คิดเป็น 10.7% เมื่อคำนวณทางสถิติแล้ว โดยมีค่านัยสำคัญทางสถิติ ที่ p = 0.112 ซึ่วตรงนี้คือจุดที่คำนวนผิดในการรายงานครั้งแรก ว่ามีนัยสำคัญที่ p = 0.03 ทั้งนี้คาดว่ากรณีนี้อาจเกิดจากกลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนน้อยเกินไป จึงจะมีการศึกษาค้นคว้าต่อไป

2. จากการตรวจหาไวรัสในวันที่ 5 สำหรับกลุ่มที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร พบไวรัส 10 รายจาก 29 ราย (34.5%) ส่วนในกลุ่มยาหลอกพบไวรัส 16 รายจาก 28 ราย (57.1%)

3. ผู้ที่มีปอดอักเสบ 3 รายในกลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีการอักเสบเพิ่มขึ้น

4. การใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรดังกล่าว ไม่มีผลข้างเคียงต่อตับ ไต และระบบเลือด

“การดึงงานวิจัยกลับไปแก้ไขครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าประชาชนมีความสนใจในฟ้าทะลายโจร ซึ่งถือเป็นแรงกระตุกต่อสังคม เพราะเราไม่ต้องการให้มีความเชื่อมั่นในฟ้าทะลายโจรมากเกินพอดี และใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อ อย่างไรก็ตามการดึงงานวิจัยกลับไม่ได้ส่งผลต่อทิศทางการใช้ฟ้าทะลายโจร เนื่องจากฟ้าทะลายโจรได้บรรจุเข้าบัญชียาหลักด้วยผลการสนับสนุนกว่า 7 งานวิจัย นอกจากนี้มีผู้ที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาโรคโควิด-19 แล้วกว่า 1 แสนคนทั่วประเทศ” พญ.อัมพร กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ส.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top