PTTGC เผย NatureWorks ลงทุนโรงงานพลาสติกชีวภาพแห่งที่ 2 คาดผลิตได้ในปี 67

บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และ บริษัท Cargill, Incorporated l ในฐานะผู้ถือหุ้นร่วมกันใน บริษัท NatureWorks LLC ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพ PLA อันดับหนึ่งของโลก พร้อมเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ชีวภาพเพื่อสิ่งแวดล้อม หลังจากได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้กับ NatureWorks

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท NatureWorks LLC เมื่อวันที่ 28 ก.ค.64 มีมติอนุมัติให้ NatureWorks ดำเนินโครงการลงทุนโรงงานพลาสติกชีวภาพ Polylactic Acid (PLA) แห่งที่ 2 ที่โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ประเทศไทย โดยที่โครงการดังกล่าวใช้น้ำตาลจากอ้อยเป็นวัตถุดิบหลักเพื่อผลิต Lactic Acid ซึ่งนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต PLA 75,000 ตันต่อปี โดยมีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 20,000 ล้านบาท

การลงทุนดังกล่าวทำให้เกิดการต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มกับวัตถุดิบทางการเกษตรของประเทศไทย ตอบสนองการขยายตัวของตลาด สอดคล้องกับกลยุทธ์ Bioeconomy ของประเทศ และกลยุทธ์การขยายการลงทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Business)ของบริษัทฯ ซึ่งตามแผนงานคาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 567

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTGC กล่าวว่า บริษัทฯ ในฐานะผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ของประเทศไทยและผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอันดับหนึ่งของโลก มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืนและหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อสร้างสมดุลและการเติบโตไปข้างหน้าร่วมกัน ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยขับเคลื่อนบนกรอบของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs)

นางสาว คอลลีน เมย์ President บริษัท Cargill’s Bioindustrial Group กล่าวว่า การลงทุนในครั้งนี้นับเป็นการตอกย้ำที่สำคัญถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของเราในการลงทุนเพื่อพัฒนาโซลูชันที่ยั่งยืนสำหรับลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพทั่วโลก โรงงานแห่งใหม่นี้เป็นโรงงานพลาสติกชีวภาพโพลีแลคติก แอซิด (Polylactic Acid : PLA) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แห่งที่ 2 ภายใต้ชื่อทางการค้า Ingeo และส่งเสริมการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มกับวัตถุดิบทางการเกษตรของประเทศไทย ตอบสนองการขยายตัวของตลาด

IngeoPLA เป็นโพลิเมอร์ชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ มีคาร์บอนฟุตปริ้นท์ต่ำ สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายประเภท เช่น นำไปผลิตเป็นถุงชา แคปซูลกาแฟ บรรจุภัณฑ์อาหาร เส้นใยใช้ในงานพิมพ์ชิ้นงานสามมิติ เส้นใยที่นำมาใช้ผลิตผ้าอ้อม ผ้าเช็ดทำความสะอาด หน้ากากอนามัย รวมถึงอุปกรณ์ใช้ภายในบ้าน เป็นต้น โดยโรงงานนี้จะใช้น้ำตาลจากอ้อยเป็นวัตถุดิบปีละประมาณ 110,000 ตัน นำไปผลิตเป็นกรดแลคติก (Lactic Acid) แลคไทด์ (Lactide) และโพลิเมอร์ (Polymer) จนได้เป็นโพลิแลคไทด์ (Polylactide) ส่งผลให้โรงงานนี้เป็นโรงงานผลิตโพลิแลคไทด์แบบครบวงจรแห่งแรกของโลก โดยมีกำลังการผลิตโพลิเมอร์ชีวภาพอยู่ที่ 75,000 ตันต่อปี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ส.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top