นายกฯ ย้ำเร่งช่วยเหลือลดภาระทางการศึกษาหลังปรับการเรียนผ่านระบบออนไลน์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อเศรษฐกิจสังคมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงหลายอย่างต้องหยุดชะงักไป ทำให้เกิดรูปแบบการดำรงชีวิตวิถีใหม่ หรือ new normal ที่เชื่อมโยงผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงด้านการศึกษา ที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นการสอนทางไกล และเรียนหนังสือที่บ้านมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยผ่านระบบออนไลน์ซึ่งส่งผลให้ทุกภาคส่วนและผู้ปกครองมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

รัฐบาลได้เห็นความสำคัญถึงปัญหาและไม่ได้นิ่งนอนใจ มีมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทั้งโรงเรียน ผู้ปกครอง นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงมาตรการทางการเงิน อุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอน และอินเตอร์เน็ตฟรีสำหรับการศึกษา เพื่อช่วยลดผลกระทบทางการศึกษาของเยาวชนให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ทุกคนทั่วประเทศได้รับการศึกษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ แม้จะอยู่ในสถานการณ์วิกฤติ นักเรียนจะต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้ โดยรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทยได้มีโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมปรับรูปแบบการเรียนรู้ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นแต่เรื่องเฉพาะองค์ความรู้ แต่ต้องนำองค์ความรู้ต่างๆเหล่านั้นไปประยุกต์ในการใช้ชีวิต และการประกอบอาชีพได้ในภายภาคหน้า

นายกรัฐมนตรี ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพัฒนารูปแบบการศึกษาให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ ด้วยการผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน ตลอดจนสนับสนุนองค์กรการศึกษา ในระบบอินเตอร์เน็ตที่จำเป็นต่อการศึกษาที่บ้าน เพื่อให้เด็กไทยได้รับการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ได้รับความรู้อย่างครบถ้วนและมีศักยภาพสูง สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล พร้อมทั้งให้มีการปลูกฝังวินัย จริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม ประวัติศาสตร์ และความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศต่อไป

นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้นักเรียน ครู ผู้ปกครอง ได้มีการเรียนรู้และสนับสนุนไปด้วยกัน และขอให้มีการสร้างแรงจูงใจกระตุ้นให้เด็กสนใจเอาใจใส่ในการเรียนแม้เรียนอยู่ที่บ้านก็ตาม เนื่องจากผู้ปกครองหลายคนมีภาระ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่นักเรียน ครูและวิธีการสอนว่า ทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกันต้องดูแลครูให้มีการเตรียมความพร้อม รับการศึกษาในรูปแบบใหม่นี้ต่อไปในอนาคต ซึ่งต่อไปจะเปลี่ยนแปลงมากขึ้นจากสถานการณ์โควิด

ทั้งนี้ ตนเองได้ให้แนวทางไปกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปแล้ว และขอให้นำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ ซึ่งต้องมีการประเมินผลทั้งครูและเด็ก ปรับรูปแบบ หลักสูตร และเอกสารตำราเรียนให้มีความทันสมัย และสามารถสร้างแรงกระตุ้นให้นักเรียนเข้าใจว่า ศึกษาไปเพื่ออะไร และเพื่อให้มีงานทำในอนาคต และเพิ่มขีดความสามารถในตัวเองให้คนอื่นยอมรับ สิ่งสำคัญที่สุด เมื่อเรียนรู้ไปแล้วต้องนำไปสู่การปฏิบัติได้ด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ส.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top