สนพ.เผย H1/64 ยอดใช้น้ำมันหดช่วง WFH แต่พลังงานขั้นต้นโต 2.8% ตามการใช้ไฟฟ้า

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า การใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้น 2.8% จากการใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน/ลิกไนต์ ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า เพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว

ในขณะที่การใช้น้ำมันลดลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งภาครัฐมีมาตรการต่างๆ อาทิ การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) การประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดและการจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด เป็นต้น ส่งผลอย่างชัดเจนต่อการใช้น้ำมันในสาขาขนส่ง

สำหรับสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 สรุปได้ดังนี้

– การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ลดลง 3.9% ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ในเดือนเมษายน 2564 และจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด อาทิ Work From Home และจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัดต่อเนื่องมาจนถึงเดือนมิถุนายน โดยการใช้น้ำมันดีเซลลดลง 1.1% เนื่องจากการขนส่งลดลงในช่วงดังกล่าว การใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล เพิ่มขึ้น 0.2% เนื่องจากการใช้เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติในไตรมาสแรกของปี 2564 และลดลงอย่างชัดเจนภายหลังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระลอก 3

สำหรับการใช้น้ำมันเครื่องบิน ลดลง 53.0% เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ลดลงอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง น้ำมันเตา เพิ่มขึ้น 19.6% จากการใช้ที่เพิ่มขึ้นของทั้งภาคขนส่ง อุตสาหกรรม และการผลิตไฟฟ้า

การใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน เพิ่มขึ้น 8.7% จากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวและฐานการใช้ที่ต่ำมากกว่าปกติในปี 2563 โดยการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีการใช้เพิ่มขึ้น 21.2% และภาคครัวเรือน มีการใช้เพิ่มขึ้น 3.8% ขณะที่ภาคขนส่ง มีการใช้ลดลง 12.0% ซึ่งลดลงมาอย่างต่อเนื่องจากการที่ผู้ใช้รถยนต์ LPG บางส่วนหันมาใช้น้ำมันทดแทน ประกอบกับข้อจำกัดในการเดินทางตามมาตรการของรัฐ

การใช้ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้น 4.1% โดยการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจยกเว้นการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) การใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 3.9 ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากการใช้ไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรมและการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพิ่มขึ้น 7.2% และ 6.0% ตามลำดับ ตามการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี

ขณะที่การใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) ลดลง 18.9% ซึ่งลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จากผู้ใช้รถยนต์ NGV บางส่วนหันมาใช้น้ำมันทดแทน อีกทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นข้อจำกัดทำให้การใช้ NGV ในการเดินทางลดลง ส่วนการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ เพิ่มขึ้น 4.9% ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว

– ด้านการใช้ไฟฟ้า ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้า1 (System Peak) ของปี 2564 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 เวลา 14.49 น. อยู่ที่ระดับ 31,023 MW เพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้น 0.8% โดยการใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ 45% อยู่ในสาขาอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 6.1% จากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ในครัวเรือนลดลง 1.9% จากฐานปี 2563 ที่ค่อนข้างสูงในช่วงล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว ประกอบกับในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 เริ่มมีฝนตกทำให้อุณหภูมิไม่สูงนัก การใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและการใช้ไฟฟ้าในสาขาธุรกิจลดลง 5.0% จากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 อย่างชัดเจน

อาทิ ธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และค้าปลีก และค่าเอฟที ช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2564 อยู่ที่อัตรา -15.32 สตางค์ต่อหน่วย ปรับลดลง 2.89 สตางค์ต่อหน่วย จากรอบเดือนกันยายน – ธันวาคม 2563

สำหรับแนวโน้มการใช้พลังงานปี 2564 ซึ่ง สนพ. ได้มีการพยากรณ์โดยอ้างอิงสมมุติฐานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเพิ่มขึ้นในช่วง 0.7-1.2% เนื่องจาก (1) แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก (2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และ (3) การปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

สศช. คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2564 จะอยู่ในช่วง 62-72 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากสมมุติฐานดังกล่าว จะส่งผลให้การใช้พลังงานขั้นต้นในปี 2564 เพิ่มขึ้น 0.1% ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาการผลิตเพื่อการส่งออกจากเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัว คาดการณ์ว่าการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภทยกเว้นการใช้น้ำมัน

โดยปี 2564 การใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน/ลิกไนต์ คาดว่ามีการใช้เพิ่มขึ้น 3.5% และ 1.8% ตามลำดับ ส่วนการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า คาดว่าเพิ่มขึ้น 11.7% ขณะที่การใช้น้ำมัน คาดว่าลดลง 5.5% อันเป็นผลจากการยกระดับมาตรการล็อกดาวน์และการประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในเดือนกรกฎาคม 2564 การใช้ LPG ในภาคครัวเรือน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.9% ภาคอุตสาหกรรมและการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.3% และ 11.5% ตามลำดับ ขณะที่ภาคขนส่งคาดว่ามีการใช้ลดลง 24.0% ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าการใช้จะเพิ่มขึ้น 3.5% และการใช้ไฟฟ้า คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าลดลงเล็กน้อยที่ 0.4%

อย่างไรก็ตาม สนพ. ยังคงจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศอย่างใกล้ชิด อาทิ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก มาตรการในการป้องกัน โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ส.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top