จิตตะ เวลธ์ แกร่งสวนโควิดจำนวนพอร์ตกองทุนส่วนบุคคลโตกว่า 12 เท่าจากปีก่อน

นางสาวพรทิพย์ กองชุน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเติบโต บลจ.จิตตะ เวลธ์ เปิดเผยว่า ด้วยการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีการลงทุนอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อตอบโจทย์การลงทุนของนักลงทุนรายย่อยที่ต้องการผลตอบแทนที่ดี ด้วยอัลกอริทึม AI ในการคัดเลือกหุ้น และวิธีการที่ง่ายและสะดวกสบาย ด้วยระบบการจัดสรรพอร์ตการลงทุน กระจายความเสี่ยง บริหารจัดการอัตโนมัติ (Automated Investing) ให้ผลตอบแทนชนะตลาด ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนในยุค New Normal จึงได้รับผลดีเกินคาด ส่งผลให้จำนวนพอร์ตกองทุนส่วนบุคคลที่ลงทุนกับ จิตตะ เวลธ์ เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยล่าสุดปรับตัวเพิ่มขึ้น 12 เท่าจากปีที่แล้วสูงสุดเป็นประวัติการณ์

“การมาของวิกฤติโควิด-19 ได้กระตุ้นการใช้เทคโนโลยีในทุกๆอุตสาหกรรม ในขณะที่นักลงทุนเองก็พยายามแสวงหาผลตอบแทนที่เติบโต ขณะที่ทำงานอยู่ที่บ้าน ท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่อยู่ในระดับต่ำ และตลาดหุ้นผันผวน เพราะฉะนั้น นวัตกรรมเทคโนโลยีการลงทุนที่ยอมรับในทั่วโลก ช่วยคัดสรรหุ้นดี ราคาถูก ให้ผลตอบแทนชนะตลาด มาพร้อมกับการจัดพอร์ตอัตโนมัติ จึงตอบโจทย์นักลงทุนในยุคนี้ ส่งผลให้นักลงทุนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนกับ จิตตะ เวลธ์ เป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ และยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง”

นางสาวพรทิพย์ กล่าว

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กระตุ้นให้ทุกองค์กร และผู้บริโภคต้องปรับตัวให้สอดคล้องไปกับสถานการณ์ และเป็นที่มาของเทรนด์ใหม่ๆ โดยงานวิจัยของ “McKinsey Global Institute” เมื่อต้นปี 2564 เกี่ยวกับ The Future of work after COVID-19 ระบุว่า วิกฤตินี้ได้ผลักดันให้บรรดาองค์กรต่างๆ และผู้บริโภค ต้องปรับ พฤติกรรมใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว โดยมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นพฤติกรรมที่ติดเป็นนิสัยไปในอนาคต นั่นคือ มีการทำงานระยะไกล (Remote Work & Virtual Meeting) 20-25% การเข้าถึงดิจิตอลผ่าน eCommerce จะเติบโตขึ้นอีก 2-5 เท่า และมีการปรับใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation and AI) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับ จิตตะ เวลธ์ จำกัด ซึ่งเป็นฟินเทค (FinTech) สตาร์ทอัพ พัฒนาและนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กรตั้งแต่แรกเริ่ม บริษัทฯ มีรูปแบบการทำงานแบบผสมผสานหรือ “Hybrid Working” ที่เปลี่ยนจากศูนย์กลางการทำงานที่สำนักงาน มามุ่งเน้นการทำงานร่วมกันจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานในรูปแบบใหม่ เฉกเช่นเดียวกับบริษัทระดับโลก อย่าง Apple Cisco Microsoft และ Amazon ทำให้ จิตตะ เวลธ์ สามารถบริหารจัดการองค์กรในสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทฯ มุ่งมั่นให้ความสำคัญกับ ‘การสร้างคุณค่า’ ทั้งกับลูกค้าและทีมงานตลอดมา โดยมีการนำแนวคิด “TEAM” เข้ามาสนับสนุนการบริหารจัดการองค์กรให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนสู่มิติใหม่ของการทำงาน โดยแนวคิดดังกล่าวประกอบด้วย

T – Trust ความไว้วางใจ เชื่อมั่นในการทำงานของบุคลากร โดย จิตตะ เวลธ์ เน้นการทำงานอย่างโปร่งใส (Transparency) ด้วยความซื่อตรง (Integrity) เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม และได้รับความเชื่อใจจากผู้บริหาร โดยได้นำแนวคิด OKR (Objective and Key Results) มาตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย และขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จด้วยผลลัพธ์ นำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายเดียวกันที่ได้ตั้งไว้

E – Empathy ความเห็นอกเห็นใจกัน มอบสิ่งดีๆ ให้พนักงานได้ทำงานอย่างเป็นสุข ด้วยการเอาใจใส่และเข้าใจ ทั้งด้านสุขภาพกายและและสุขภาพใจ (Well-Being) โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตเช่นนี้ เช่น สวัสดิการอาหารกลางวัน วันลาพักร้อนที่ไม่จำกัด เวลาทำงานที่ยืดหยุ่น ประกันสุขภาพและวัคซีนทั้งของพนักงานและครอบครัว รวมถึงการดูแลสภาพจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากการ Work from Home เป็นเวลานาน เช่น ภาวะ Burn out หรือภาวะเครียด กดดัน เช่น จัดให้มี Workation ทำงานและพักผ่อนไปด้วย

A – Adaptability การทำงานแบบยืดหยุ่นและปรับตัวมากขึ้น (Resilience) รองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ด้วยแนวทางแบบ Agility ที่ช่วยให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยี และแผนการลงทุนใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการ ณ ปัจจุบันได้อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่เคยใช้เวลาหลายเดือน ก็สามารถทำให้เสร็จภายในไม่กี่สัปดาห์ มุ่งเน้นในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ จากที่ใดก็ได้ในโลกนี้ (Work from Anywhere) จากประเทศสหรัฐฯ ภูเก็ต อุบลราชธานี หรือปาย แม่ฮ่องสอน

M – Modern Solution ใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อตอบรับการทำงานแบบ Remote Working ทั้งการเก็บข้อมูลและเข้าระบบผ่าน cloud สื่อสารด้วยระบบออนไลน์ต่างๆ ทั้งอีเมล แชท ประชุมออนไลน์ เครื่องมือการทำงานร่วมกันได้อย่างเรียลไทม์ แทนที่การใช้เอกสารด้วยดิจิตอล ลงชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ระบบการรักษาความปลอดภัย รวมถึงอุปกรณ์การใช้งานที่ทันสมัย ตอบโจทย์ทุกการพัฒนา และการสร้างสรรค์ผลงาน แบบไร้รอยต่อ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ส.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top