ผบช.น. รับมีกระสุนจริงยิงผู้ชุมนุมจากมือที่ 3 สั่งสอบหลังมีผู้บาดเจ็บจากอาวุธ

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กล่าวถึงกรณีมีภาพเป็นชายยืนอยู่บนสน.ดินแดง และใช้ปืนยิงควบคุมสถานการณ์ ยืนยันว่าเป็นตำรวจจริง แต่เป็นการใช้กระสุนยางยิงข่มขู่เพื่อป้องกันสถานที่ราชการ ไม่มีการใช้กระสุนจริง โดยช่วงบ่ายวันนี้ ตำรวจพิสูจน์หลักฐานเข้าไปจำลองเหตุการณ์ และตรวจวิถีกระสุนในระหว่างเกิดเหตุ ซึ่งยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ากระสุนที่ผู้บาดเจ็บถูกยิงมาจากทิศทางใด แต่ยอมรับว่าในพื้นที่มีการใช้กระสุนจริง แต่ไม่ใช่ของตำรวจ

ส่วนกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่าผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจากปลอกโลหะนั้นเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากปลอกแก๊สน้ำตาจากค้างในเครื่องยิงจนกว่าจะมีการบรรจุกระสุนแก๊สน้ำตาใหม่จึงจะสลัดออกจากเครื่องยิง ซึ่งระหว่างปฏิบัติการมีการเคลื่อนที่อาจทำให้ปลอกกระสุนแก๊สน้ำตาตกหล่นในที่เกิดเหตุได้ แต่ในข้อเท็จจริงมีการยิงลูกแก้ว หัวน็อต และใช้อาวุธจริงที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ถูกอาวุธปืนยิงด้วย

โดยได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รอง ผบช.น.เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนกรณีมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากอาวุธในระหว่างที่มีการชุมนุมบริเวณใกล้ สน.ดินแดง ตามที่มีการเผยแพร่ทางสื่อโซเชียล ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย ประกอบด้วย 1.เด็กอายุ 14 ปี มีบาดแผลที่หัวไหล่ขวา รักษาตัวอยู่ที่ รพ.ราชวิถี 2.ชายอายุ 20 ปี มีบาดแผลที่ลำคอและมีเศษวัตถุฝังอยู่ รักษาตัวอยู่ที่ รพ.ราชวิถี และ 3.อีกรายบาดเจ็บที่เท้าจาการถูกโลหะเข้ารักษาตัวที่ รพ.เพชรเวช แต่ออกไปแล้วกำลังติดตามตัว

“2 รายแรกจากการรวบรวมพยานหลักฐานและสอบปากคำผู้อยู่ในเหตุการณ์เบื้องต้น เด็กอายุ 14 ปีน่าจะได้รับบาดเจ็บที่โรงบำบัดน้ำเสีย ซึ่งอยู่ห่างจาก สน.ดินแดงประมาณ 50 เมตร ส่วนชายอีกคนวิ่งมาจากโรงแรมปริ้นซ์ตัน ผ่านโรงพักแล้วไปล้มลงบริเวณโรงบำบัดน้ำเสียเช่นเดียวกัน”

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าว

เมื่อวานนี้ (16 ส.ค.64) เวลา 15.00 น.มีการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแล้วเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล หลังจากนั้นได้เคลื่อนขบวนกลับมาทำกิจกรรมต่อที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกดินแดง และบริเวณรอบ สน.ดินแดง จนถึงเวลาประมาณ 22.00 น.ซึ่งมีการทำลายป้อมตำรวจ 5 จุดในพื้นที่ สน.นางเลิ้ง, สน.พหลโยธิน, สน.สุทธิสาร, สน,ห้วยขวาง และ สน.ดินแดง โดยสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 13 ราย เป็นชาย 11 ราย และหญิง 2 ราย ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 5 ราย

พร้อมยืนยันว่า ยุทธวิธีการควบคุมฝูงชนนั้นเป็นการปฏิบัติตามแผน และเครื่องมือได้รับการอนุมัติจากมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งเป็นอาวุธที่ไม่สามารถทำให้อันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ผู้ชุมนุมมีอาวุธที่สร้างอันตรายกับตำรวจ และตำรวจจะเริ่มตอบโต้เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ความรุนแรง มีการเผาทำลายสถานที่ราชการ และจะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์

“เครื่องมือที่เจ้าหน้าที่ใช้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ ไม่มีกระสุนจริง และไม่ทำให้ถึงตาย”

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าว

สำหรับการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงปัจจุบัน มีแล้ว 40 คดี ผู้ต้องหาเข้าข่ายความผิด 309 คน จับแล้ว 152 คน และกำลังสอบสวนผู้ที่กระทำความผิดเพิ่มเติม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ส.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top