CENTEL คาดอัตราเข้าพัก Q3/64 เฉลี่ย 14-18% ก่อนฟื้นสู่ 30-40% ในไตรมาสสุดท้าย

นายรณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายการเงินและบริหาร บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) เปิดเผยว่า บริษัทมองภาพรวมธุรกิจโรงแรมในช่วงครึ่งปีหลังนี้ คาดว่าในช่วงไตรมาส 3/64 อัตราการเข้าพัก (OCC) จะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาส 2/64 หรือคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 14-18% แม้มีโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เข้ามาหนุน ซึ่งมองว่าเป็นโครงการที่ดีเพื่อนำร่องสู่การเปิดประเทศตามแผนของรัฐบาล โดยโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ภูเก็ต ก็ได้รับอานิสงส์ดังกล่าว โดยมี OCC ในเดือน ก.ค.ที่ 16% และ 15 วันแรกของเดือน ส.ค.เพิ่มมาที่ 23% คาดว่าจนถึงสิ้นเดือนจะอยู่ที่ 18%

ขณะที่บริษัทคาดหวังการเติบโตของ OCC ในไตรมาส 4/64 จะปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 30-44% โดยเฉพาะปลายไตรมาสคาดว่า OCC จะปรับตัวขึ้นไปถึงระดับ 50-70% เนื่องจากข้อมูลสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดการณ์ว่าจากการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 น่าจะส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มทรงตัวในเดือน ก.ย.นี้ และคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้อยู่ที่ 0.7-1.5%

ส่วนแผนการปิดหรือเปิดโรงแรมในช่วงครึ่งปีหลังนี้ขึ้นอยู่กับคำสั่งของภาครัฐ ประกอบการพิจารณาว่าแนวทางใดจะส่งผลบวกต่อธุรกิจโรงแรมมากกว่ากัน แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันบริษัทได้ปรับแผนการเปิดโรงแรม ประกอบด้วย โรงแรม เซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย จากกำหนดเดิมที่จะเปิดให้บริการในกลางเดือนส.ค.นี้ ก็เลื่อนไปเปิดในเดือน ต.ค.64 จากความต้องการเข้าพักลดลงหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงรุนแรง

นอกจากนี้ยังมีแผนกลับมาเปิดให้บริการโรงแรมบางส่วนในช่วงเดือน ต.ค.นี้ หลังปิดไปในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ เซ็นทารา วิลล่า สมุย, เซ็นทาราแกรนด์ ที่กระบี่ รวมถึงหาดใหญ่, โรงแรมโคซี่ สมุย เฉวงบีช และโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์มิราจบีชรีสอร์ท พัทยา ที่คาดจะเปิดได้อีกครั้งในต้นเดือน ก.ย. ส่วนโรงแรมที่ภูเก็ตอีก 2 แห่งที่กะตะ กะรน จะพิจารณากลับมาเปิดให้บริการกลางปี 65 เพื่อรอการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

อีกทั้งวันที่ 19 ส.ค.นี้ บริษัทมีแผนจะใช้โรงแรมในแม่สอด เปิดตัวเป็น Local Isolation Unit ซึ่งคล้ายกับสถานที่กักตัวทางเลือก (ASQ) แต่จะไม่มีแพทย์เป็นประจำ

ส่วนแผนการใช้โรงแรมเป็น Hopitel เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ปัจจุบันบริษัทพิจารณาว่าไม่เหมาะสมจะพัฒนาเป็นรูปแบบดังกล่าว เนื่องจากโรงแรมส่วนใหญ่ติดห้างสรรพสินค้า และโรงแรมบางจุดยังได้ลูกค้าในกลุ่มองค์กรอยู่แล้ว โดยปัจจุบันมีเพียง โรงแรมเซ็นทารา วอเตอร์เกท พาวิลเลียน ซึ่งเป็น ASQ และยังมีผลการดำเนินงานดี

ด้านธุรกิจอาหาร ยังคงควบคุมต้นทุนได้ดี จากประสบการณ์การระบาดของโควิด-19 ระรอบแรก ทำให้ EBITDA ของธุรกิจอาหารยังเป็นบวกอยู่ ขณะเดียวกันแม้จะเกิดการแพทยระบาดของโควิด-19 รุนแรงในไตรมาส 3/64 แต่ธุรกิจอาหารก็ได้มุ่งเน้นดิลิเวอรี่ และครัวที่ไม่มีพื้นที่หน้าร้าน (Cloud kitchen) มากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ส.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top