PTT ปรับแผนรุก Future Energy and Beyond ตั้งเป้ามีสัดส่วนกำไรกว่า 30% ในปี 73

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.(PTT) เปิดเผยว่า บริษัทปรับแผนการดำเนินงานใหม่เพื่อให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ Powering Life with future energy and beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในปี 73 ประกอบด้วย

  1. New Growth ตั้งเป้าสร้าง New Growth จากธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy and Beyond) ให้มีสัดส่วนกำไรสุทธิมากกว่า 30% ในปี 73
  2. Business growth แบ่งเป็น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ (LNG) ตั้งเป้าปริมาณการขายมาอยู่ที่ 9 ล้านตันต่อปี, ธุรกิจไฟฟ้า (Conventional) ตั้งเป้ามีกำลังการผลิตเติบโตที่ 8 กิกะวัตต์ หรือ 8,000 เมกะวัตต์ และพลังงานทดแทน (Renewable) ตั้งเป้ามีกำลังการผลิตเป็น 12 กิกะวัตต์ จากเดิมที่เคยวางเป้าหมายไว้ที่ 8 กิกะวัตต์ ภายในปี 73
  3. Clean growth ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas : GHG) ให้ได้ 15%

สำหรับการลงทุนตั้งแต่ปี 64-73 บริษัทได้เพิ่มการลงทุนธุรกิจ Future Energy and Beyond ในสัดส่วน 32% ของการลงทุนรวมทั้งหมด แบ่งเป็น Future Energy ราว 15%, ธุรกิจใหม่ (New Business) ราว 17% ส่วนที่เหลือ 68% จะเป็นการลงทุนในธุรกิจ E&P โดยจะเน้นลงทุนใน สินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูง โดยเฉพาะแหล่งก๊าซฯ, ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ จะสร้าง global LNG Portfolio, ธุรกิจพลังงาน ขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าบางกลุ่มในไทยและภูมิภาค , ธุรกิจ P&R บูรณาการ Supply Chain มุ่งสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business), ธุรกิจ oil & Retail ขยายการค้าปีกที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมุ่งสู่ mobility&lifestyle

นายอรรถพล กล่าวว่า กลยุทธ์การดำเนินงานในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตในส่วนของ Future Energy นั้น บริษัทจะเร่งการลงทุนในกลุ่มพลังงานอนาคต เช่น พลังงานหมุนเวียน, Energy Storage System, EV value chain จะเห็นได้จากที่ผ่านมาบริษัทได้มีการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบ Smart Energy Platform ร่วมกับ WHAUP และ SERTIS สำหรับซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม, เปิดตัว G-Box ระบบกักเก็บพลังงานร่วมกับ GPSC และ OR เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการพลังงานและลดต้นทุนค่าไฟฟ้า รวมถึง เปิดโรงงานแบตเตอรี่ Semi Solid แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเชียงใต้ เสริมสร้างความพร้อมด้านพลังงานให้กับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

นอกจากนั้น ที่ผ่านมาบริษัทได้เตรียมพร้อมรองรับกระแสยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ จัดตั้งบริษัท ARUN PLUS เพื่อดำเนินธุรกิจ EV ครบวงจร, จัดตั้งบริษัท EVme PLUS ให้บริการด้าน Digital platform เพื่อสร้างระบบนิเวศธุรกิจ EV, เปิดตัว Swap&Go ธุรกิจสลับแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าพร้อมให้บริการ 22 แห่งทั่วกรุงเทพฯ

รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ผลักดันไทยสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ โดยร่วมกับ Foxconn ในการศึกษาสร้างแพลตฟอร์มผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าครบวงจรในประเทศ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำในอาเซียน ซึ่งจะใช้งบลงทุนราว 1,000-2,000 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 5-6 ปีข้างหน้า และคาดว่าจะเริ่มเห็นรถยนต์ไฟฟ้าครั้งแรกใน 2 ปีจากนี้

ส่วนธุรกิจใหม่ (New Business) จะเร่งขยายธุรกิจที่มีศักยภาพ เช่น life science, logistics & Infrastructure เป็นต้น โดยในกลุ่ม Life Science บริษัทขยายพอร์ตธุรกิจยาดึงความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศ โดยซื้อหุ้นเพิ่มทุน 6.66% Lotus Pharmaceutical บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายยาสามัญชั้นนำของไต้หวัน รวมถึงอยู่ระหว่างวิจัยและพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์เพื่ออัพเกรดเป็นเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางยา และร่วมกับคณะแพทย์ศิริราช วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยด้วยธุรกิจ High Value Business ซึ่งมีหัวหอกสำคัญ คือ GC โดยล่าสุดซื้อกิจการ Allnex 1.48 แสนล้านบาท เพื่อต่อยอดธุรกิจ Coating Resins รวมถึงซื้ออาคารศูนย์ฝึกอบรมการบินไทยเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจของกลุ่ม ปตท.

ขณะที่ธุรกิจ Mobility & Lifestyle จะมี บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เป็นแกนนำหลัก เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งธุรกิจน้ำมัน และต่อยอดธุรกิจ รองรับความต้องการของตลาดในอนาคต โดยเข้าไปทำเรื่องใหม่ๆ เช่น คลาวด์คิทเชน ก็ได้ร่วมมือกับ LINE MAN จัดตั้งในปั๊มน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ซึ่งเปิดดำเนินการสาขาแรกไปแล้ว และธุรกิจ AI & Robotics Digitalization ปัจจุบัน บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ได้จัดตั้งบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) ที่ทำธุรกิจเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ มีการผลิตหุ่นยนต์และโดรน เพื่อเข้ามาเสริมรายได้ทางธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงงบการลงทุนในช่วง 5 ปี (64-68) ของกลุ่ม PTT ที่ 865,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจ ปตท. 14% , ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น 50%, ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย 30% และธุรกิจไฟฟ้า 6% โดยยืนยันว่าบริษัทมีเงินลงทุนเพียงพอ และไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน เนื่องจากกระแสเงินจากการดำเนินงานยังเพียงพอ และอัตราส่วนทางการเงิน ยังอยู่ในระดับเข้มแข็ง รวมถึงยังสามารถกู้ได้เพิ่มอีก

นายอรรถพล กล่าวว่า ด้านแนวโน้มผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังนี้ บริษัทคาดว่าจะทำได้ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกที่ผ่านมา หากไม่มีเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบรุนแรงก็คาดว่าราคาผลิตภัณฑ์ต่างๆ น่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน

ผลประกอบการครึ่งแรกของปี 64 เปรียบเทียบกับครึ่งแรกของปี 63 กลุ่ม ปตท. มีรายได้จากการขายจำนวน 1,011,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จำนวน 186,201 ล้านบาท หรือ 23% จากเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ โดยหลักมาจากกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ทั้งจากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการและราคาของ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่ปรับตัวสูงขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากปีก่อน

ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) จำนวน 216,163 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 129,570 ล้านบาท หรือมากกว่า 100.0% ตามรายได้ที่ปรับเพิ่มขึ้น และธุรกิจการกลั่นที่มีกำไรสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในครึ่งแรกของปี 64 ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น เทียบกับขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้กลุ่ม ปตท. มีกำไรสุทธิในครึ่งแรกของปี 64 จำนวน 57,166 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46,667 ล้านบาท หรือมากกว่า 100.0%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ส.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top