ศาสตราจารย์วิน กุปตา ผู้เชี่ยวชาญของสถาบัน Health Metrics and Evaluation แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันเปิดเผยกับสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า แนวทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คือการบริจาควัคซีนให้กับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ก่อนที่จะหันมาฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (booster shots) ให้กับชาวอเมริกันอายุต่ำกว่า 65 ปีที่มีสุขภาพแข็งแรง
“อันที่จริงแล้ว การใช้วัคซีนตามยุทธศาสตร์ ‘American First’ นั้น ควรเป็นความพยายามที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วโลกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เราจะสามารถปกป้องคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเพื่อเป็นการขจัดโอกาสที่จะเกิดไวรัสกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นอีก โดยเราควรบริจาควัคซีนส่วนเกินที่มีอยู่ในขณะนี้ให้กับทั่วโลก นั่นต่างหากคือการบรรลุเป้าหมาย ‘American First’ ซึ่งจะช่วยให้ชาวอเมริกันมีความปลอดภัยมากที่สุด” ศาสตราจารย์กุปตากล่าวให้สัมภาษณ์ในรายการ “The News with Shepard Smith” ของสถานีโทรทัศน์ CNBC
หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์สรายงานโดยอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ตัดสินใจแล้วว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ควรได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันไวรัสโควิด-19 หลังจากได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วเป็นเวลา 8 เดือน
นิวยอร์ก ไทม์สระบุว่า คณะบริหารของปธน.ไบเดนมีแผนที่จะประกาศการตัดสินใจดังกล่าวภายในสัปดาห์นี้ และหากคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐอนุมัติแผนการดังกล่าว ก็คาดว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ในช่วงกลางเดือนก.ย.นี้
อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์กุปตามองว่า การฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันถือเป็นการตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผล
“เมื่อพิจารณาจากข้อมูลในปัจจุบัน การฉีดวัคซีนเพิ่มให้กับประชาชนในกลุ่มที่ไม่จำเป็นถือเป็นการตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผล และนั่นไม่ได้ช่วยปกป้องชีวิตประชาชน และไม่ได้ทำให้การแพร่ระบาดยุติลงเร็วขึ้น” ศาสตราจารย์กุปตากล่าว
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์กุปตากล่าวว่า แม้ว่าการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำนั้น จะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แต่ก็อาจสร้างความสับสนให้กับประชาชนในกลุ่มอื่น
“สำหรับผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง วัคซีนสองโดสของไฟเซอร์ หรือวัคซีนสองโดสของโมเดอร์นา ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ดังนั้น การที่รัฐบาลประกาศแนวทางการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับทุกคนหลังจากได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วเป็นเวลา 8 เดือนนั้น ถือเป็นการตัดสินใจที่ไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่มีอยู่ และอาจสร้างความสับสนให้กับประชาชนได้” ศาสตราจารย์กุปตากล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ส.ค. 64)
Tags: บูสเตอร์โดส, วัคซีนต้านโควิด-19, วิน กุปตา, สหรัฐ