รายงานประชุมเฟดชี้กรรมการส่วนใหญ่เห็นพ้องปรับลดวงเงิน QE ปีนี้

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนก.ค.เมื่อวานนี้ โดยระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า เฟดควรจะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในปีนี้ เมื่อพิจารณาจากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวเป็นวงกว้างตามที่เฟดคาดการณ์ไว้

“กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า เมื่อพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวเป็นวงกว้างตามที่เฟดคาดการณ์ไว้ ก็เป็นเรื่องเหมาะสมที่เฟดจะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการ QE ในปีนี้” รายงานการประชุมเฟดระบุ พร้อมกับเสริมว่า “เศรษฐกิจสหรัฐได้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อแล้ว และการขยายตัวของการจ้างงานก็ใกล้จะอยู่ในระดับที่น่าพอใจ”

อย่างไรก็ดี กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นว่า การจ้างงานยังไม่อยู่ในภาวะที่ “มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน” ซึ่งเป็นเกณฑ์สำคัญที่เฟดกำหนดไว้ก่อนที่จะพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

“กรรมการส่วนใหญ่ต้องการให้เฟดสื่อสารกับตลาดให้ชัดเจนว่า การปรับลดวงเงิน QE จะไม่เกิดขึ้นพร้อมกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกันมีกรรมการเฟดบางคนเสนอว่า เฟดควรรอจนถึงต้นปี 2565 ก่อนที่จะเริ่มปรับลดวงเงิน QE” เฟดระบุในรายงานการประชุมประจำวันที่ 27-28 ก.ค.

ทั้งนี้ กรรมการเฟดย้ำว่า การปรับลดวงเงิน QE ควรต้องเกิดขึ้นก่อน และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่ากระบวนการปรับลดวงเงิน QE จะเสร็จสิ้น และเฟดจะต้องไม่ทำให้งบดุลบัญชีของเฟดขยายตัวขึ้นอีกต่อไป

รายงานการประชุมยังบ่งชี้ว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่เล็งเห็นประโยชน์ของการปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรรัฐบาลและปรับลดการซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ไปพร้อมๆกัน โดยปัจจุบัน เฟดซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 80,000 ล้านดอลลาร์/เดือน และซื้อตราสารหนี้ MBS ในวงเงิน 40,000 ล้านดอลลาร์/เดือน

ส่วนในประเด็นเงินเฟ้อนั้น กรรมการเฟดตั้งข้อสังเกตว่า อัตราเงินเฟ้อได้ปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และคาดว่าจะยังคงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ก่อนที่จะปรับตัวสู่ระดับปานกลาง

นอกจากนี้ รายงานการประชุมยังระบุด้วยว่า กรรมการเฟดได้ตระหนักถึงความเสี่ยงที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะปรับตัวสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้การกลับไปทำงานและการเรียนต้องถูกเลื่อนออกไป และอาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ส.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top