ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 17,165 ราย เสียชีวิต 226

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,165 ราย ประกอบด้วย

  • ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 15,226 ราย
  • จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 1,744 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 192 ราย
  • ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 3 ราย มาจากสหราชอาณาจักร 1 ราย และมาเลเซีย 2 ราย (ช่องทางธรรมชาติ)
  • เสียชีวิต 226 ราย เป็นชาย 120 ราย หญิง 106 ราย อายุระหว่าง 21 – 98 ปี (อายุเฉลี่ย 68 ปี) โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุเกินกว่า 60 ปี 150 ราย และมีโรคประจำตัวเรื้อรัง 46 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 30 ราย และหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 1,083,951 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 20,059 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 9,788 ราย

โดยจังหวัดที่มีผู้ป่วยโควิด-19 สูงสุดใน 10 อันดับของวันนี้ คือ อันดับแรก กรุงเทพฯ 4,025 ราย, สมุทรปราการ 1,731 ราย, สมุทรสาคร 1,288 ราย, ชลบุรี 816 ราย, ราชบุรี 558 ราย, นครราชสีมา 445 ราย, พระนครศรีอยุธยา 381 ราย, ฉะเชิงเทรา 376 ราย, นนทบุรี 365 ราย, บุรีรัมย์ 331 ราย

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 213,308,068 ราย เสียชีวิต 4,453,760 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 38,814,596 ราย อันดับ 2 อินเดีย 32,460,328 ราย อันดับ 3 บราซิล 20,583,994 ราย อันดับ 4 รัสเซีย 6,766,541 ราย และอันดับ 5 ฝรั่งเศส 6,624,777 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 33

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศเริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงเรื่อยๆ โดยวันนี้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ที่ 17,165 ราย หลังจากผ่านจุดพีคที่มีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 20,000 ราย/วัน ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนส.ค. เป็นต้นมา ประกอบกับการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่กทม. และปริมณฑล (ไม่รวมในเรือนจำ) มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยหากสามารถลดการติดเชื้อลงอย่างต่อเนื่อง โอกาสในการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จึงมีความเป็นไปได้สูงขึ้น โดยขณะนี้ทางคณะกรรมการอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลรายละเอียด ของมาตรการผ่อนปรนหากสถานการณ์ดีขึ้นในการประเมินครั้งถัดไป ซึ่งคาดว่าจะทราบผลการประเมินหลังวันที่ 31 ส.ค.นี้

อย่างไรก็ตามถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่กทม. และปริมณฑลจะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 47% แต่ผู้ป่วยอาการหนักที่มีอาการปอดอักเสบยังคงอยู่ในระดับทรงตัว และจำนวนผู้ป่วยครองเตียงที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในพื้นที่กทม. และปริมณฑลยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงกว่ากทม. และปริมณฑลอยู่ที่ 53% แต่มีแนวโน้มผู้ป่วยครองเตียงที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจลดลง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ส.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top