ผู้ว่า ธปท.ระบุโควิดรุนแรงทำศก.ฟื้นช้า-ไม่แน่นอน แต่ยืนยันปัจจัยพื้นฐานยังแกร่ง

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานไทยแลนด์โฟกัส 2021 ว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีความรุนแรง ทำให้การฟื้นตัวค่อนข้างช้าและยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะจากการท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถกลับมาตามที่คาดไว้ได้ ทำให้ภาคบริการยังไม่ฟื้นตัว แม้ว่าการส่งออกจะขยายตัวกลับมาในระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีความยืดหยุ่นและมีความเสี่ยงในด้านต่ำค่อนข้างจำกัด โดยมีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งใน 3 ด้านสำคัญ คือ

1.ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง และหนี้ต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ

2.ภาคธุรกิจธนาคารยังมีความเข้มแข็งสามารถรองรับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤติได้ดี และ

3.ฐานะการคลัง มีหนี้สาธารณะในระดับที่ยอมรับได้ และต้นทุนทางการเงินยังอยู่ในระดับต่ำ จึงยังมีช่องทาง (Room) สำหรับการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

“ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและมั่นคง ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้”

นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

พร้อมระบุว่า ธปท. พร้อมที่จะดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อให้เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ โดยตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 เริ่มต้นขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายถูกปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อเอื้อให้ภาวะการเงินช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และมีสภาพคล่องที่เพียงพอ ที่ผ่านมา แม้สินเชื่อยังขยายตัวได้ในเกือบทุกภาคเศรษฐกิจ แต่สภาพคล่องในระบบที่สูงยังกระจายตัวได้ไม่ดีพอ ทำให้มีมาตรการด้านสินเชื่อที่ผูกโยงกับการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อให้ธุรกิจและรายย่อย

นอกจากนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีสภาพคล่องที่เพียงพอ และสอดคล้องกับวิกฤติที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ธปท. ได้ดำเนินมาตรการที่ตรงเป้าหมาย (targeted) และยืดหยุ่น (flexible) มากขึ้น เช่น การออก พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจฯ ที่ปรับปรุงจาก พ.ร.ก.ฉบับก่อน โดยมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” สำหรับภาคธุรกิจที่ใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า นอกจากมาตรการเพื่อตอบสนองวิกฤติเฉพาะหน้าแล้ว ธปท. ยังมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนมาตรการให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้ยั่งยืนขึ้น เช่น การพักหนี้อาจเหมาะสมในระยะสั้น แต่เป็นภาระลูกหนี้ในระยะยาว ธปท. จึงสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับโครงสร้างหนี้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้สามารถผ่านพื้นวิกฤติไปได้ด้วยกัน

สำหรับในระยะถัดไป ธปท. ยังคำนึงถึงโลกหลังโควิด-19 ซึ่งบริบทของเศรษฐกิจทั่วโลกจะมีลักษณะ ดังนี้ 1. คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Greener) และ 2. มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น (more Digital) โดยในด้านสิ่งแวดล้อม ธปท. อยู่ระหว่างการผลักดันภาคธนาคารพาณิชย์ให้มีการให้เงินกู้อย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยกำลังพัฒนาในเรื่องของมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล (disclosure standards) และการพัฒนาในด้านคำนิยามด้านสิ่งแวดล้อม (green taxonomy) เพื่อนำมาใช้ปฏิบัติได้โดยเร็ว

ในขณะที่ด้านดิจิทัล (Digital) ธปท. ได้วางรากฐานสำคัญสำหรับระบบชำระเงิน เช่น การทำ QR-Code มาตรฐานในการชำระเงิน และระบบพร้อมเพย์ นอกจากนี้ ธปท. ยังให้ความสำคัญกับนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านเทคโนโลยีทางการเงินด้วย เช่น การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง ซึ่งทั้งหมดนี้ จะทำให้ระบบการเงินของไทยมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีต้นทุนที่ต่ำลง และเข้าถึงง่ายขึ้น สามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ส.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top