พาณิชย์ หนุน SMEs ขับเคลื่อนศก.กางแผนบุกตลาดโลก-เจาะเป้าหมายเมืองรอง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนาเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ เรื่อง “MOVE ON ฝ่าวิกฤตโควิดเศรษฐกิจต้องเดินหน้า” ในประเด็นวิกฤตโควิด SMEs จะ Move On ได้อย่างไร โดยระบุว่า ผู้ประกอบการ SMEs จะเข้ามามีส่วนร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในการขับเคลื่อนให้ SMEs ก้าวไปข้างหน้าต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจบัน ประเทศไทยมี SMEs ประมาณ 3.1 ล้านราย ซึ่งมากกว่า 90% ของธุรกิจทั้งประเทศเป็น SMEs และที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์มี 8 แสนราย ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก และมีความสำคัญกับทุกประเทศในโลก

ด้านกลไกทางการค้าระดับโลกต่างก็ให้ความสำคัญกับ SMEs เช่น การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 64 ซึ่งประเทศนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ ในที่ประชุมมีมติสำคัญ คือ ประเทศสมาชิกจะต้องให้การสนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพของ SMEs เช่น ส่งเสริมโอกาสความเท่าเทียม, ส่งเสริมให้เข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศ, ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการเพื่อส่งเสริมทั้งศักยภาพ, ลดอุปสรรคทางการค้า, เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยี, เงินทุน, กลไกการชำระเงินข้ามพรมแดน ตลอดจนเข้าถึงข้อมูลด้านการตลาดและกฎระเบียบ

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ในปี 65 ประเด็นหนึ่งที่ได้กำหนดไว้เป็นหัวข้อ คือ จะผลักดันเรื่องการส่งเสริมศักยภาพ Micro SMEs ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า SMEs มีความสำคัญกับทุกประเทศในโลก และในการประชุมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยมีสาระสำคัญของการประชุม คือร่วมกันส่งเสริมให้ SMEs มีส่วนร่วมในการค้ารูปแบบใหม่ เช่น อีคอมเมิร์ซ โดยให้ความสำคัญกับการใช้ทั้งเทคโนโลยี, นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้มีความพร้อมในการปรับตัวรองรับกับสถานการณ์การค้าโลกของ SMEs

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับ SMEs โดยมีนโยบาย และโครงการที่เป็นรูปธรรม เช่น 1.โครงการจับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับร้านอาหาร เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้กับ SMEs หรือ Micro-SMEs โดยได้รับความร่วมมือจาก SME D Bank ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดดอกเบี้ยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขพิเศษ เงื่อนไขที่ผ่อนปรน โดยเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 64 สถาบันการเงินทั้งหมดได้อนุมัติเงินกู้เงื่อนไขพิเศษให้กับร้านอาหารไปแล้ว 2,500 ล้านบาท รวม 2,608 ราย เพื่อต่อลมหายใจให้ SMEs ในภาวะวิกฤติโควิด นอกจากนี้โครงการจับคู่กู้เงินสถาบันการเงิน กับ SMEs ส่งออก ได้อนุมัติเงินกู้ให้ SMEs ส่งออกที่มีอยู่ประมาณ 30,000 รายทั่วประเทศ โดยอนุมัติไปแล้ว 500 ล้านบาท และยังคงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

“ได้สั่งการเป็นนโยบายว่าทีมเซลล์แมนจังหวัด ที่มีพาณิชย์จังหวัดเป็นผู้ประสานงานต้องบรรจุ SMEs หรือ Micro-SMEs ในรูปหอการค้าจังหวัด YEC หรือ Biz Club เป็นกรรมการทีมเซลล์แมนจังหวัด จะได้ช่วยกันขับเคลื่อนการตลาดให้สามารถกระจายพื้นที่โอกาสทางการตลาดได้ต่อ สำหรับทีมเซลล์แมนประเทศที่ทูตพาณิชย์เป็นหัวเรือใหญ่ใ ห้ช่วยหาตลาดให้กับ SMEs ไทยที่มีศักยภาพในตลาดต่างๆ และตลาดใหม่ที่เราสามารถแทรก SMEs เข้าไปได้”

นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ในด้านองค์ความรู้นั้น กระทรวงพาณิชย์ได้มีการจับมือกับแพลตฟอร์มใหญ่ๆ หรือบริษัทที่มีเทคโนโลยีทำโครงการร่วมกันให้ความรู้กับนำเทคโนโลยีมาใช้ ส่งเสริมการตลาด การผลิต โดยเฉพาะสัญญาณ 5G ที่มีความสำคัญ จึงเป็นที่มาของการจับมือระหว่างสถาบันการอบรมของกระทรวงพาณิชย์กับหัวเว่ย ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมกว่า 1,000 ราย และกระทรวงพาณิชย์มีหลักสูตรกว่า 70 หลักสูตร ทั้งให้ความรู้ในเรื่องพื้นฐาน การค้าระหว่างประเทศ การเปิดเสรีทางการค้า (FTA) การสร้างช่องทางการตลาดให้ผู้ส่งออก เครือข่าย และการอบรมการค้าหรือเศรษฐกิจกระแสใหม่ในยุค New Normal ใช้การค้าออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซมาเกี่ยวข้องมาอบรมให้ความรู้กับผู้สนใจไปแล้ว 66,700 ราย ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ มีการสร้างแม่ทัพรุ่นใหม่ทางการค้า และการส่งออกให้กับประเทศ ด้วยโครงการปั้น Gen Z เป็น CEO ร่วมมือกับ 93 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ อบรมให้ความรู้การบริหารจัดการธุรกิจ, การบัญชี, ภาษาต่างประเทศ, การเจรจาธุรกิจ หรือตลาดใหม่ โดยตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีนี้จะปั้น CEO Gen Z ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 12,000 คน ซึ่งขณะนี้มีสมัครเข้ามาแล้ว 16,500 คน โดยมั่นใจว่าภายในสิ้นปีจะอบรมให้ได้ครบทั้งหมดที่กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ ซึ่งจะกลายเป็นแม่ทัพการค้าทั้งในประเทศ และบุกตลาดต่างประเทศต่อไปในอนาคต

ส่วนการลงลึก Mini FTA ระหว่างไทยกับบางประเทศที่มีหลายมณฑล หลายรัฐที่แต่ละรัฐบางครั้งใหญ่กว่าประเทศไทย เช่น จีน อินเดีย โดยมีความสำเร็จที่ได้ลงนามไปแล้ว เช่น ไทยกับเมืองโคฟุของประเทศญี่ปุ่น เป็นเมืองอัญมณีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและพัฒนาเทคโนโลยีด้านอัญมณีเครื่องประดับ จะเป็นโอกาสในอนาคตที่จะใช้ช่องทาง Mini FTA รวมทั้งเป็นสิทธิพิเศษในการเข้าถึงตลาดต่อไป นอกจากนี้ได้ทำการเซ็น Mini FTA ไทยกับไห่หนาน หรือมณฑลไหหลำของจีน เนื่องจากมีศักยภาพทางเศรษฐกิจมหาศาล

หลังจากนี้ จะมีการจะเดินหน้าต่อไปในส่วนของ Mini FTA ระหว่างไทยกับรัฐเตลังกานาของอินเดีย SMEs ไทยที่ประกอบกิจการไม้ยาง เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งมีโอกาสไปเปิดตลาดสูง เพราะมีความต้องการใช้มาก และกำลังทำเฟอร์นิเจอร์ บ้าน และนโยบายรัฐบาลอินเดีย คือ housing for all ที่ให้ทุกคนมีบ้าน ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญที่จะเข้าถึงตลาดอินเดียต่อไป

ด้านผลไม้ยังมีอนาคตต่อไป แต่ต้องเป็นผลไม้มีคุณภาพตลาดใหญ่ในโลกไม่เฉพาะจีน ล่าสุด ทูตชิลีมีความสนใจต้องการนำเข้าผลไม้ไทย 2 ชนิด คือลองกอง และมังคุด ขณะเดียวกันการผลิตเครื่องมือแพทย์ยังมีอนาคตดี เช่น ถุงมือยาง เป็นที่ต้องการมากและภาคบริการที่ SMEs ยังมองเห็นอนาคตได้ เช่น การค้าออนไลน์ หรือระบบอีคอมเมิร์ซ สร้างแพลตฟอร์ม เพื่อสนองความต้องการช่องทางตลาด โดยคาดว่าหลังการระบาดของโควิด-19 ตลาดออนไลน์ยังคงมีอิทธิพลอยู่ ซึ่งดิจิทัลคอนเทนต์ และการทำสื่อโฆษณาออนไลน์ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพสูงมาก

นอกจากนี้ ที่สำคัญคือการท่องเที่ยว ที่คาดว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะกลับมา เช่น “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ขยายไปเป็น “อันดามันแซนด์บ็อกซ์” จังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ รวมทั้งการท่องเที่ยวยังเป็นอนาคตที่สำคัญที่จะต้องเดินหน้าต่อไป สำหรับการท่องเที่ยว SMEs และการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนให้กลายเป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน และเป็นนโยบายที่ต้องขับเคลื่อนต่อไปทั้งบริการสุขภาพ สปา การบริการทางการแพทย์ และ SMEs ด้านการเงิน FinTech E-Payment เป็นต้น

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ส.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top