เงินบาทเปิด 32.53 แข็งค่าจากสัปดาห์ก่อนตามทิศทางตลาด จับตากระแสเงินทุนไหลเข้า

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 32.53 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าจาก ปิดตลาดเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 32.63 บาท/ดอลลาร์ เป็นไปตามทิศทางตลาดโลก เนื่องจากนักลงทุนเทขายดอลลาร์หลังประธานธนาคาร กลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ส่วนการปรับขึ้นอัตรา ดอกเบี้ยยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้

“บาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วตามทิศทางตลาดโลก ช่วงนี้ระหว่างวันจะมีความผันผวนสูงจากแรงซื้อทั้งสองด้าน โดยเช้านี้บาท ปรับตัวแข็งค่ามาอยู่ในระดับเดียวกับช่วง 7 สัปดาห์ก่อน”

นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 32.45 – 32.65 บาท/ดอลลาร์

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาดูเกี่ยวกับการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศจำนวนมากเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรและ ตลาดหุ้นเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าจะเป็นการลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาว

THAI BAHT FIX 3M (27 ส.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.31215% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.28680%

ปัจจัยสำคัญ

– เงินเยนอยู่ที่ 109.71 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 110.12 เยน/ดอลลาร์

– เงินยูโรอยู่ที่ 1.1802 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.1754 ดอลลาร์/ยูโร

– อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 32.687 บาท/ดอลลาร์

– ททท.ทำการสำรวจ 300 เอเย่นต์ทัวร์ในอินเดีย พบส่วนใหญ่ 94% นักท่องเที่ยวอินเดียต้องการมาเที่ยวไทย และไม่ถูกกัก ตัว รอ ศบค.อนุญาตนักท่องเที่ยวจากดินแดนภารตะเข้า หลังเริ่มผ่อนผันให้นักธุรกิจ กลุ่มครอบครัวเข้าได้แล้ว ชี้หากให้เข้าได้เมื่อใด ไหล เข้า “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” แน่

– “สุพัฒนพงษ์” เร่งเคาะมาตรการ “อีวี” ก.ย.นี้ หนุนภาษีสร้างดีมานด์ จูงใจลงทุน นำร่องผลิต 30% ในปี 2030 ตั้งเป้า ปล่อยคาร์บอนเหลือศูนย์ สั่ง สนพ.ดันพลังงานทดแทน 50% ในพีดีพีใหม่ หวังลงทุนเพิ่ม 2 ล้านล้านบาท ใน 10 ปี “พลายพล” แนะขยับ แผนเร็วขึ้นอีก 15-20 ปี หวั่นเจอกีดกันการค้า

– โฆษกรัฐบาลยันภายในสิ้นปีนี้ไทยจะได้รับวัคซีนรวม 140 ล้านโดส เร่งฉีดทุกคนตามเป้าหมาย 50 ล้านคน 70% สธ. จ่อ บูสเตอร์เข็ม 3 สำหรับประชาชนทั่วไปที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มแล้ว ไม่ต่ำกว่า 3 เดือนช่วงปลายเดือน ก.ย.-ต.ค.

– “นิด้าโพล” เผยมาตรการล็อกดาวน์ไม่ประสบความสำเร็จ เหตุไม่เข้มงวด ชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ ยังอยากให้มีต่อ แต่ต้องคุมเข้มจริงจัง หวั่นเลิกล็อกทำโควิดระบาดเพิ่ม “สวนดุสิตโพล” ชี้ ปชช.ต้องการวัคซีนคุณภาพและฉีดได้ครบ 100% “ซูเปอร์โพล” สะท้อนส่วนใหญ่อยากให้รัฐเปิดเอกชนนำเข้า-กระจายวัคซีน “โฆษกรัฐบาล” ขานรับทุกความเห็น

– รองผู้อำนวยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้านการเงินของธนาคารกลางจีน (PBOC) ระบุว่า บิตคอยน์และสกุลเงิน คริปโตอื่นๆ ไม่ใช่สกุลเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และไม่มีการสนับสนุนด้านมูลค่าที่แท้จริง

– ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 70.3 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็น ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2554 จากระดับ 81.2 ในเดือนก.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 70.7

– กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐ เพิ่มขึ้นเพียง 0.3% ในเดือนก.ค. สอดคล้อง กับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ หลังจากพุ่งขึ้น 1.1% ในเดือนมิ.ย. ขณะที่รายได้ส่วนบุคคลพุ่งขึ้น 1.1% ในเดือนก.ค. สูงกว่าที่นัก วิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.3%

– กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวด อาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 3.6% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมาก ที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2534 สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ หลังจากดีดตัวขึ้น 3.6% เช่นกันในเดือนมิ.ย. และเมื่อเทียบราย เดือน ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ค. หลังจากดีดตัวขึ้น 0.5% ในเดือนมิ.ย.

ส่วนดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 4.2% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่ สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2551 หลังจากเพิ่มขึ้น 4.0% ในเดือนมิ.ย. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนก. ค.

– ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย คาดว่าเฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนปลายปี 2565 หรือ ต้นปี 2566

– ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP ดัชนีผู้ จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนส.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค. ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอ ปิดการขาย และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนส.ค. ของจีน และยูโรโซน รวมถึงท่าทีของสหรัฐฯ และชาติตะวันตกต่อเหตุการณ์ใน อัฟกานิสถาน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ส.ค. 64)

Tags: ,
Back to Top