ฝ่ายค้าน ชี้นายกฯ-รมว.เกษตร ทุจริตเชิงนโยบายปล่อยฮั้วประมูล-ทุบราคายาง

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ อภิปรายไม่ไว้วางใจการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม และคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และรองประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)

พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ และนายเฉลิมชัย ได้ร่วมทำผิดกฎหมายหลายฉบับ เป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและโดยทุจริต ร่วมกันบงการใช้ จ้างวาน หรือยุยงส่งเสริมให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กระทำผิดการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือฮั้วประมูล กระทำผิดไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญวินัยการเงินการคลัง ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติตามมาตราฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

การกระทำผิดเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.63-3 พ.ย.63 และความผิดสำเร็จเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 64 โดยบุคคลทั้งสองได้นำยางในสต็อกของรัฐบาล จำนวน 104,000 ตันเศษออกประมูลขาย ซึ่งยางดังกล่าวเป็นยางที่มาจากโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางประมาณ 53,000 ตันเศษ และอีกโครงการที่เกิดขึ้นในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ คือโครงการมูลพันธ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางในฤดูกาลเพาะปลูกหน้าอีก 51,000 ตันเศษ มูลค่าของสินค้าดังกล่าวเป็นหนี้สิน 9,995 ล้านบาท โดยการใช้คำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้นำยางดังกล่าวไปขายในราคาเพียง 37.27 บาท/กก. ขณะที่ราคายางในขณะนั้นอยู่ที่ 65.80 บาท/กก.ต่างกันเกือบ 30 บาท จึงเกิดความเสียหายต่อรัฐบาล ระบบธุรกิจ และเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1.7 ล้านครอบครัว

แผนประทุษกรรมการทำความผิด เกิดจากการที่โดยปกติแล้วนายกรัฐมนตรีจะมอบหมายตำแหน่งให้ผู้อื่นทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) แต่พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเก้าอี้ตำแหน่งนี้มาตลอด 7 ปี โดยในวันที่ 1 มิ.ย. 63 มีมติ กนย. ให้ระบายยางในสต็อก โดยพิจารณาความเหมาะสมของสถานการณ์ราคายางในตลาด รวมถึงการนำยางในสต็อกไปใช้ในหน่วยงานภาครัฐ

จากนั้นวันที่ 3 พ.ย. 63 มีมติ ครม.เร่งระบายยางในสต็อกตามมติ กนย. โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดำเนินการระบายยางให้หมดไปโดยเร็ว โดยให้คำนึงถึงระยะเวลาและระดับราคาจำหน่ายที่เหมาะสม เพื่อลดภาระงบประมาณ และรักษาประโยชน์สูงสุดของรัฐ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อการรักษาเสถียรภาพราคายาง ดังนั้น จึงเป็นคำสั่งจากนายก โดยใช้มติ ครม.ในการสั่งให้ รมว.เกษตรฯ ไปขายยาง

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า มติ ครม.ดังกล่าวบิดเบือน 3 ประการ คือ เติมคำว่า “เร่งดำเนินการระบายสต็อกยาง…ให้หมดไปโดยเร็ว”, การตัดคำว่า “ราคาตลาด” ทิ้ง และการตัดคำว่า “การให้นำยางไปใช้ในหน่วยงานของรัฐ” ทิ้ง รวมถึงมีข้อความที่ปกป้องตนเอง แต่ให้ผู้ดำเนินการเดือดร้อน ส่อผิดกฎหมายหลายฉบับ เช่น ข้อบังคับคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับการพาณิชย์ พ.ศ.2561 ข้อ 6 ที่ออกตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 8 (ในเรื่องความคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพประสิทธิผล และตรวจสอบได้) และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 เป็นต้น

การกระทำดังกล่าวนั้น เป็นกระบวนการกีดกัน เอารัดเอาเปรียบ โดยประสงค์ให้มีเพียงบริษัทเดียวเข้าทำสัญญา หลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และทุบราคายางให้ต่ำจากราคาตลาด 67.84 บาท/กก. (มี.ค. 64) โดยคณะกรรมการบริหารสต็อกยาง เหลือ 37.01 บาท/กิโลกรัม และผู้ประเมินอิสระ เหลือ 33.91 บาท/กก. ซึ่งการทุบราคายางจะไม่สามารถลดลงเกินกว่า 3 บาท/กก.

โดยข้อกำหนดการจัดซื้อ (TOR) ในการล็อกสเปค คือ นำยางต่างประเภทและชนิดเหมาคละคุณภาพทั้ง 17 โกดัง โดยต้องซื้อทั้งหมด 104,000 ตัน ต้องแสดงหลักฐานการเงิน 1,000 ล้านบาท และวางหลักประกัน 200 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการทั้งหมด ไม่โปร่งใส ไม่เห็นสินค้า ไม่มีการชี้แจงรายละเอียด และมีลักษณะปิดกั้น

หลังจากนั้นได้มีบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง เสนอราคาเพียงรายเดียวในวันที่ 20 เม.ย. 64 โดยแสดงหลักฐานการเงิน 1,000 ล้านบาท และหลักประกันอีก 200 ล้านบาท วันที่ 21 เม.ย. 64 ได้ประกาศให้บริษัทเป็นผู้ชนะประมูลที่ราคา 37.27 บาท/กก. รวม 3,904 ล้านบาท จากยางราคาในตลาด 65 บาท/กก. โดยวันที่ 28 เม.ย. 64 ได้เซ็นสัญญาซื้อขายยางพาราเป็นเวลาเพียงไม่กี่วันทำการ รวมทั้งมีการรับเงินมัดจำค่าสินค้าล่วงหน้าอย่างผิดปกติ

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า มติ ครม.ในส่วนที่ทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย จากพฤติกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ และนายเฉลิมชัย ทำการทุจริตเชิงนโยบาย สร้างความเสียหายจากการทุบราคายางโดย กยท. ส่งผลให้รัฐต้องชดเชยขาดทุน 6,051 ล้านบาท และไม่สามารถรักษาเสถียรภาพราคายาง ไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นการเอื้อประโยชน์นายทุน และไม่สามารถดันราคายางให้ขึ้นได้

นอกจากนี้ ผลเสียจากการทุบราคายางโดย กยท.นั้น จากผลผลิตจากยางธรรมชาติของไทยปีละ 4.5 ล้านตัน ราคายางลดลง 10 บาท/กิโลกรัม เท่ากับสร้างความเสียหายถึง 45,000 ล้านบาท/ปี รวมทั้งสร้างผลเสียหายต่อชาวสวนยางรายย่อย ครัวเรือนละ 25,272 บาท (10 ไร่ X 240 กิโลกรัม X 10.53 บาท) ชาวสวนยางรายย่อย 1.34 ล้านราย จึงสร้างความเสียหายโดยรวมที่ 33,742 ล้านบาท ซึ่งราคายางก็มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ส.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top