ฟรุตต้าไบโอเมด สตาร์ทอัพไบโอเทคไทยยื่นไฟลิ่งเข้าตลาดหุ้นสหรัฐระดมทุน 1.5 พันลบ.

บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด สตาร์ทอัพไบโอเทคไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในอุตสาหกรรมไบโอเทคเมื่อไตรมาส 1/64 อยู่ระหว่างการดำเนินการเข้าตลาดหลักทรัพย์ OTC market ที่สหรัฐฯ เพื่อเตรียมการเข้า Nasdaq ในอนาคต

ทั้งนี้ บริษัทได้ยื่นไฟลิ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อระดมทุนราว 1,500 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์ในการนำเงินไปใช้ลงทุนสร้างไบโอรีแอคเตอร์ และขยายกำลังการผลิตจากเดิม 60 ตันต่อเดือน เพิ่มเป็น 500 ตันต่อเดือน หรือ 6 พันตันต่อปี ซึ่งขณะนี้มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหมดแล้ว คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ในปี 65 ซึ่งจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 300 ล้านบาท/ปี เป็น 2,000 ล้านบาท/ปี

นายรักชัย เร่งสมบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ ฟรุตต้า ไบโอเมด เปิดเผยว่า การที่บริษัทไปเปิดตัวที่ตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐยังเป็นการผลักดันสินค้าชีวภาพของบริษัทไปสู่ตลาดนานาชาติเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในประเทศที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง เพราะเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศไทยสามารถแข่งขันได้กับทุกประเทศในโลก ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและขยายตลาดในประเทศต่าง ๆ ได้มากขึ้น

บริษัทมีจุดเด่นจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ได้แก่ ต้นทุนเครื่องจักรที่ถูกกว่าการนำเข้าเครื่องจักรถึง 4 เท่า ต้นทุนวัตถุดิบต่ำจากการใช้วัสดุเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตน้ำผลไม้ของบริษัทฯ และได้ทำเอ็มโอยูร่วมกับตลาดไท และตลาดสี่มุมเมือง ในการซื้อเศษผักผลไม้ในระยะยาว และต้นทุนพลังงานที่โรงงานชีวภาพใช้ความร้อนและความเย็นจากโรงงานผลิตอาหารนำมาใช้หมุนเวียน

ปัจจุบัน ฟรุตต้า ไบโอเมด ขยายธุรกิจชีวภาพแยกออกจากธุรกิจหลักผลิตน้ำผลไม้ แบ่งเป็น 3 ธุรกิจ คือ พลาสติกชีวภาพ เครื่องสำอาง และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้ง 3 กลุ่มนี้มีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตอย่างมาก

โดยธุรกิจพลาสติกชีวภาพ สามารถผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PHA เพื่อใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ชีวภาพที่ย่อยสลายได้เองในอุณหภูมิปกติสภาพแวดล้อมธรรมชาติโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ขวด กล่องบรรจุอาหาร วัสดุกันกระแทก ฟิล์มถนอมอาหาร ซึ่งในโลกนี้มีเพียง 12 บริษัทเท่านั้นที่ผลิตได้และบริษัทฯเป็นรายแรกและรายเดียวในอาเซียนที่มีเทคโนโลยีดังกล่าวที่สามารถผลิตขายเชิงพาณิชย์

ขณะที่ธุรกิจเครื่องสำอาง จะมุ่งเน้นเทคโนโลยีการผลิตสารไฮยาลูรอน ซึ่งเป็นโมเลกุลธรรมชาติที่ช่วยบำรุงผิวพรรณให้ชุ่มชื้น โดยร่างกายมนุษย์จะผลิตไฮยาลูรอนลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น และผลิตไมโครสเฟียร์ วัตถุในการนำสารออกฤทธิ์เข้าสู่ชั้นผิวหนังเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งทั้งไฮยาลูรอนและไมโครสเฟียร์นี้จะผลิตได้จากสารชีวภาพที่ได้จากเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์

ส่วนธุรกิจเครื่องมือแพทย์ เบื้องต้นจะมุ่งสู่การผลิตแคปซูลบรรจุยา เจลปิดแผลที่ได้จากจุลลินทรีย์ ซึ่งช่วยกันน้ำและสมานแผนได้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งพัฒนาสู่วัสดุปิดแผลชนิดต่าง ๆ ไหมละลายเย็บแผล วัสดุในการเชื่อมเซลล์กระดูก ไปจนถึงวัคซีนในอนาคต ซึ่งวัสดุชีวภาพจะเข้ากับร่างกายได้ดีกว่าวัสดุสังเคราะห์ชนิดอื่น โดยในการผลิตเครื่องมือแพทย์นี้ บริษัทได้ทำการวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยระดับโลกหลายแห่ง และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเตรียมเพิ่มความร่วมมือกับอีกหลายแห่งในอนาคต เพื่อพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ต่อคนไทยในด้านราคาที่ถูกลง และตรงกับกับความต้องการของแพทย์ที่จะช่วยเหลือผู้คนในอนาคต

นายรักชัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งทางด้านวัตถุดิบและการพัฒนาเทคโนโลยีมายาวนาน จึงสามารถต่อยอดภาคอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพชั้นสูงได้ โดยธุรกิจในเครือฟรุตต้า เดิมบริษัทเริ่มต้นจากธุรกิจเครื่องดื่มประเภทน้ำผัก ผลไม้ ซึ่งเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการผลิตสูง จึงได้ทุ่มเทการวิจัยนำสิ่งเหลือทิ้งมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการใช้เทคโนโลยีจุลินทรีย์เข้ามาย่อยสลายวัสดุเหล่านี้ให้เกิดเป็นสารเคมีชีวภาพในรูปแบบต่างๆที่ใช้เป็นวัสดุในการผลิตพลาสติกชีวภาพ วัสดุทางการแพทย์ และเครื่องสำอาง

การวิจัยดังกล่าวนำมาซึ่งโครงการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PHA (POLYHYDROXYALKANOATE) และ PHA BIOPLASTIC COMPOUND และผลิตภัณฑ์ขึ้นรูปจากพลาสติก PHA เช่น ถุง ขวด ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกิจการที่นำของเหลือทางการเกษตร เช่น ใบพืช ผักเสียเหลือทิ้งจากแปลง และของเหลือจากกระบวนการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น เปลือกกล้วย เปลือกมะม่วง เปลือกสับปะรด กากถั่วเหลือง เป็นต้น มาพัฒนาเป็นวัตถุดิบในการผลิต PHA โดยโครงการมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำ

สำหรับพลาสติกชีวภาพ PHA ที่ผลิตออกมาจะเน้นไปสู่การผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป เช่น บรรจุภัณฑ์ และสินค้าอื่น ๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ ทำให้ได้ราคาสูงกว่าการขายเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพเหมือนกับผู้ผลิตรายอื่น รวมทั้งนำไปต่อยอดเป็นสินค้าชีวภาพมูลค่าสูงทางการแพทย์ และเครื่องสำอาง นอกจากนี้บริษัทฯยังมีธุรกิจผลิตเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งได้ร่วมพัฒนากับเจ้าของเทคโนโลยีจากเยอรมัน และอินเดีย โดยจะเริ่มผลิตในอีก 6 เดือนข้างหน้า เนื่องจากมองว่าเครื่องจักรนำเข้ามีราคาสูงมาก จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรพัฒนาเครื่องจักรขึ้นมาใช้เอง และขายให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีต้นทุนเครื่องจักรลดลงอย่างมาก

นอกจากนี้เพื่อความเชี่ยวชาญในธุรกิจ ผู้ก่อตั้งได้ศึกษาเพิ่มเติมทางด้านวิศวกรรมวัสดุทางการแพทย์ UCLA (University of California Losangeles) พร้อมกับร่วมมือกับทางศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำและทีมงานระดับปริญญาเอกและปริญญาโท พัฒนาวัสดุด้าน NanoBioComposite เพื่อการแพทย์และเวชสำอาง อีกทั้งมีความร่วมมือ Joint Venture (ธุรกิจร่วมค้า) กับบริษัทยา Panoxol ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเจ้าของเป็นแพทย์ในการผลิตยาลดความดัน ขยายหลอดเลือด โดยทำ capsule หุ้มตัวยาและขวดยาด้วยวัสดุ PHA ซึ่งทำให้สารสำคัญออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น และยืดอายุการเก็บได้มากขึ้น

“ฟรุตต้าไบโอเมด เป็นสตาร์ทอัพที่มีความแตกต่างจากสตาร์ทอัพทั่วไปที่เริ่มจากการขาดทุนและทุ่มตลาดด้วยการตลาด แต่ฟรุตต้าไบโอเทค เริ่มจากการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และผลิตภัณฑ์ร่วมกับเครือข่ายลูกค้าและการตลาด ทำให้มีลูกค้าและคำสั่งซื้อทันทีเมื่อเริ่มเดินเครื่องผลิตตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งสามารถทำกำไรอยู่ในอัตราที่ดีและสูงโดยเฉลี่ยกว่า 40% มากกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมอย่างมาก ด้วยมูลค่าสินค้าที่สูงและต้นทุนการผลิตที่ต่ำ รวมถึงมีเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเอง” 

นายรักชัย กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top