BAM มั่นใจทั้งปีเก็บหนี้-ซื้อหนี้เติมพอร์ตเข้าเป้า เชื่อ Q4/64 ทำจุดสูงสุดของปี

นายรฐนนท์ ฟูเกียรติ ผู้จัดการกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่าจะทำยอดเรียกเก็บหนี้ทั้งปี 64 ได้ตามเป้าหมาย 1.74 หมื่นล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทวางเป้าหมายเรียกเก็บหนี้เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรก ซึ่งในไตรมาส 3/64 มียอดเรียกเก็บหนี้ใกล้เป้าหมายที่ 4.2 พันล้านบาทแล้ว และในไตรมาส 4/64 น่าจะทำได้สูงสุดของปีที่เป้าหมาย 6 พันล้านบาทหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศค่อยๆ ดีขึ้น และภาครัฐเริ่มคลายล็อกดาวน์ ทำให้การทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆกลับมา

ส่วนในด้านการขายทรัพย์ NPA ยังทำได้อย่างต่อเนื่องทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ โดยได้ทำแคมเปญการตลาดเพื่อกระตุ้นการขายให้ได้มากขึ้น ประกอบกับ บริษัทยังคงมีการเจรจาขายทรัพย์ NPA ขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเสนอขายทรัพย์ NPA ขนาดใหญ่ 3-4 รายการคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

แม้ว่ากรมบังคับคดีได้ปิดให้บริการประมูลทรัพย์ชั่วคราวในช่วงการล็อกดาวน์ ไม่ได้มีผลกระทบต่อบริษัทไม่มากนัก เพราะสัดส่วนรายได้ที่มาจากการประมูลทรัพย์ของกรมบังคับคดีมีสัดส่วนไม่มากเพียง 20% ของรายได้รวมเท่านั้น แต่บริษัทยังมีรายได้จากส่วนอื่นๆ ที่เข้ามาต่อเนื่อง

นายรฐนนท์ กล่าวว่า บริษัทได้ปรับกลยุทธ์การขาย NPA หันมาเน้นการขายให้กับกลุ่มนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนรายใหญ่มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาช่องทางการขายผ่านออนไลน์ เพื่อสร้างโอกาสและขยายฐานลูกค้าในการเสนอขายทรัพย์ NPA ให้มากขึ้น และทำให้ลูกค้าที่สนใจสามารถเข้าถึงการดูข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์ที่สนใจได้ง่ายมากขึ้น พร้อมกับการปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมถึงการต่อยอดธุรกิจเพื่อผลักดันการเติบโตใหม่ๆเข้ามาให้กับบริษัท ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในการตั้งบริษัทร่วมทุนกับพันธมิตรในการร่วมดำเนินธุรกิจต่อยอดธุรกิจของ BAM และพันธมิตรในช่วงไตรมาส 4/64

ทั้งนี้ บริษัทยังมองหาโอกาสเข้าประมูลซื้อหนี้ NPL และ NPA ในตลาดเข้ามาเติมในพอร์ตอย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบันแนวโน้มของปริมาณหนี้ที่สถาบันการเงินจะออกมาขายยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีจำนวนเท่าใด เนื่องจากปัจจุบันปริมาณหนี้เสียที่มีอยู่ในตลาดอาจจะยังไม่เห็นตัวเลขที่แท้จริงออกมา เพราะมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ปริมาณหนี้เสียยังไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนของหนี้เสียในตลาดในปี 65 หลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง ทำให้สถาการณ์กลับมาเป็นปกติ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นสถาบันการเงินเปิดประมูลขายหนี้เสียออกมามากขึ้นในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงต้นปี 65 โดยบริษัทประเมินมูลค่าหนี้เสียในตลาดอยู่ที่ราว 5 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในปี 65 จะเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นโอกาสให้บริษัทสามารถเข้าซื้อมากขึ้น

โดยที่ปี 64 บริษัทยังคงเป้างบซื้อ NPL และ NPA ไว้ที่ 9 พันล้านบาท และมีความสามารถซื้อหนี้ได้สูงถึง 2 หมื่นล้านบาท ตามอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทที่สามารถขยับขึ้นไปแตะระดับเพดานของนโยบายไว้ที่ 2 เท่า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top