พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อ ส.ค.64 หดตัว -0.02% Core CPI ขยายตัว 0.07%

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนส.ค.64 ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน -0.02% กลับมาหดตัวอีกครั้งในรอบ 5 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ การลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดบางชนิด และราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานเริ่มชะลอตัวลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.73%

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือนส.ค.64 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 0.07% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 8 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.23%

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ เตรียมปรับกรอบเงินเฟ้อทั่วไปของปีนี้ใหม่ในการแถลงรอบหน้า จากปัจจุบันที่กรอบเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.7-1.7% อย่างไรก็ดี จากการประเมินเบื้องต้น คาดว่าทั้งปี 64 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 0.7-0.8%

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการ สนค. เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนส.ค.นี้ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลง 0.02% เนื่องจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐ โดยเฉพาะการลดค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่ากระแสไฟฟ้า และค่าน้ำประปา ประกอบกับราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดบางชนิดมีราคาลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะข้าว เนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้สด นอกจากนั้น ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานแม้จะยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่เป็นอัตราที่ชะลอลงจากเดือนที่ผ่านมา ขณะที่สินค้าอื่น ๆ บางชนิดมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะไข่ไก่และเครื่องประกอบอาหาร และบางชนิดราคาทรงตัว ซึ่งเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสถานการณ์ จึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนส.ค. ปรับลดลง

“อัตราเงินเฟ้อในเดือน ส.ค. กลับมาหดตัวอีกครั้งในรอบ 5 เดือน ซึ่งปัจจัยลบที่กดดันเงินเฟ้อมีอิทธิพลมากกว่าปัจจัยบวก โดยปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อติดลบ มาจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ คือ ค่าน้ำ ค่าไฟในเดือนส.ค.ที่ยังมีอยู่ และมีการเพิ่มมาตรการช่วยเรื่องลดค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมด้านการศึกษา ส่วนราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดปรับตัวลดลง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ราคาลดลงจากโปรโมชั่นของห้างสรรพสินค้า และเครื่องนุ่งห่ม-รองเท้า มีความต้องการลดลง”

รองผู้อำนวยการ สนค.กล่าว

ทั้งนี้ แม้ว่าเงินเฟ้อในเดือนส.ค.จะปรับตัวลดลง แต่เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญที่เกี่ยวข้องหลายตัวยังมีสัญญาณที่ดี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายภายในประเทศและจากการนำเข้า ยังคงขยายตัว ภาคการส่งออกยังได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่ฟื้นตัว ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยยังคงขยายตัวได้ดี ซึ่งส่งผลดีต่อกำลังซื้อและอุปสงค์ในประเทศ นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิต ขยายตัว 4.9% และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ขยายตัว 8.8% สอดคล้องกับการปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการในเดือนส.ค.นี้ พบว่า มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้นจากเดือนก.ค.64 รวม 114 รายการ เช่น ไข่ไก่, ขิง, ส้มเขียวหวาน, หัวหอมแดง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลงจากเดือนก.ค.64 รวม 113 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า, ข้าวสารเหนียว, มะนาว, มังคุด, เงาะ, ค่าธรรมเนียมการศึกษา เป็นต้น ในขณะที่สินค้าและบริการที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง มี 203 รายการ

รองผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า สำหรับอัตราเงินเฟ้อในเดือนก.ย.64 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสิ้นสุดมาตรการลดค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ซึ่งได้สิ้นสุดไปในเดือนส.ค. อีกทั้งราคาพลังงานมีแนวโน้มทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยจากการเพิ่มกำลังการผลิตของผู้ผลิตโลก ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มเริ่มคลี่คลาย อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารสดและการต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ เป็นปัจจัยผันแปรสำคัญที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อในเดือนก.ย.ได้

“ต้องรอดูในเร็วๆ นี้ก่อนว่า ครม.จะอนุมัติต่ออายุมาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ ออกไปอีกจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 64 นี้หรือไม่ เพราะถ้ายังมีมาตรการดังกล่าว ก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อรายเดือนติดลบตั้งแต่ ก.ย.ไปจนถึงสิ้นปี แต่ถ้าไม่ต่อมาตรการแล้ว เงินเฟ้อรายเดือนก็อาจจะกลับไปเป็นบวกได้”

นายวิชานันกล่าว

อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลจะไม่ต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพในช่วงที่เหลือของปีนี้ ก็คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 64 คงอยู่ต่ำกว่า 1% โดยอาจอยู่ที่ระดับ 0.7-0.8% จากปัจจุบันที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ 0.7-1.7% (ค่ากลางอยู่ที่ 1.2%) โดย สนค.จะมีการทบทวนตัวเลขดังกล่าวอีกครั้งในการแถลงเงินเฟ้อของเดือนก.ย.64

ทั้งนี้ จากเป้าหมายเงินเฟ้อปี 64 ในปัจจุบันที่กรอบ 0.7-1.7% นั้น กระทรวงพาณิชย์ได้ใช้สมมติฐานจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ที่ 1.5-2.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยทั้งปี 60-70 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งปี 30-32 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งภายใต้สมมติฐานดังกล่าวนี้ รวมถึงการไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงที่เหลือของปี และไม่ต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ย. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top