ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยคนไทยสนใจลงทุนคริปโทฯ เพิ่มขึ้น หวังสร้างผลตอบแทนสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้ปัจจุบัน “คริปโทเคอร์เรนซี” จะยังคงมีความผันผวนสูง เนื่องด้วยเป็นสินทรัพย์ใหม่ที่อาจยังมีมูลค่าไม่ชัดเจนเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่น แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีกลับมีการเติบโตเป็นอย่างมาก ตามข่าวเชิงบวกและกระแสความต้องการลงทุนของนักลงทุนรายใหญ่ ทำให้คริปโทเคอร์เรนซีให้ผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน

คริปโทเคอร์เรนซี จึงได้กลายเป็นสินทรัพย์ทางเลือกใหม่ในหมู่นักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนที่พยายามแสวงหาสินทรัพย์ใหม่ๆ เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for Yield) จากภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงในกลุ่มนักลงทุนที่ชื่นชอบความเสี่ยง และต้องการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนไปยังสินทรัพย์ใหม่ๆ ท่ามกลางภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

ด้วยความน่าสนใจของตลาดคริปโทเคอร์เรนซีที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง ทำให้เป็นที่ดึงดูดกลุ่มนักลงทุนรายใหม่เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยก็เช่นกัน ได้มีนักลงทุนรายย่อยรายใหม่ๆ เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในวงจำกัด โดยปัจจุบัน มีจำนวนบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยทั้งหมด 1,379,373 บัญชี ซึ่งน้อยกว่าบัญชีซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ราว 2.1 เท่า แต่ก็มีอัตราการขยายตัวสูงอยู่ที่ 27.6% ต่อเดือน ขณะที่บัญชีซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ มีอัตราการเติบโตเพียง 2.9% ต่อเดือน สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีในไทย

อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยคริปโทเคอร์เรนซียังคงเป็นสินทรัพย์ใหม่และมีความผันผวนสูง จึงมีประเด็นคำถามที่ว่า แท้จริงแล้ว นักลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีในไทยเหล่านั้น มีลักษณะหรือมีมุมมองในแง่ของการลงทุนเป็นแบบใด เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดูแลและพัฒนาตลาดคริปโทเคอร์เรนซีของไทยต่อไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ดำเนินการสำรวจการลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีกับกลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชนที่มีรายได้สูง อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงน่าจะเป็นกลุ่มที่มีความเข้าใจด้านคริปโทเคอร์เรนซีสูง แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้มีจำนวนตัวอย่างที่จำกัด ผลทางสถิติอาจไม่ได้สะท้อนถึงประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจากผลสำรวจดังกล่าว ได้มีผลทางสถิติที่น่าสนใจหลายประการที่น่าจะสามารถบ่งชี้ลักษณะ มุมมองและความคาดหวังของนักลงทุนไทยในเบื้องต้นได้

โดยจากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า กลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ปรู้จักคริปโทเคอร์เรนซีกว่า 69.4% มีคนสนใจลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีมากถึง 52.0% สะท้อนถึงกระแสความนิยมในการลงทุนคริปโทเคอร์เรนซี อย่างไรก็ดี กลุ่มนักลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซียังอยู่ในวงจำกัด โดยมักเป็นกลุ่มคนเมืองที่มีรายได้และเงินออมอยู่ในระดับสูง

ความนิยมในการลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยกลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ปที่ยังไม่ได้ลงทุนจริงในปัจจุบัน ก็มีความสนใจที่จะลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีในอีก 1 ปีข้างหน้าราว 42.0% ยิ่งเป็นการตอกย้ำภาพให้เห็นว่า จะมีนักลงทุนรายใหม่ๆ เข้ามาในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีในไทยอีกมากในระยะข้างหน้า

จากผลสำรวจชี้ให้เห็นอีกว่า ปัจจุบันคนไทยที่ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีมักเน้นมิติการเก็งกำไรเป็นหลัก อย่างไรก็ดี นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างเข้าใจในภาวะเสี่ยงจากการลงทุนในตลาด แต่ขณะเดียวกัน ก็มีนักลงทุนบางส่วนที่อาจจะยังไม่เข้าใจถึงสภาวะเสี่ยงนั้น เพราะมีความคาดหวังและมีความเชื่อมั่นว่าจะได้รับผลตอบแทนในระดับสูงต่อเนื่อง นับว่าเป็นโจทย์สำคัญต่อทั้งกลุ่มนักลงทุนและทางการ ที่จำเป็นต้องเร่งพัฒนาการเรียนรู้ในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ อีกทั้งเป็นการปูทางไปสู่นวัตกรรมทางการเงินอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า จากความนิยมในการลงทุนตลาดคริปโทเคอร์เรนซีในไทย ภายใต้มุมมองของนักลงทุนไทยที่ส่วนใหญ่ค่อนข้างเข้าใจในภาวะเสี่ยงจากการลงทุนในตลาด ขณะเดียวกัน ก็มีนักลงทุนบางส่วนที่อาจจะยังไม่เข้าใจถึงสภาวะเสี่ยงนั้น ขณะที่มีความคาดหวังและมีความเชื่อมั่นว่าจะได้รับผลตอบแทนในระดับสูงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การจะลดความเสี่ยงจากภาวะความผันผวนในตลาด หรือสร้างโอกาสจากการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี จำเป็นต้องอาศัยทักษะความรู้ทางการเงินและความรู้เท่าทันต่อเทคโนโลยีดิจิทัลด้วย ซึ่งนับว่าเป็นโจทย์สำคัญต่อทั้งกลุ่มนักลงทุน และทางการ

โดยนักลงทุนที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ก็ควรต้องเร่งเสริมสร้างทักษะความรู้และความเข้าใจในเรื่องสกุลเงินดิจิทัลอย่างคริปโทเคอร์เรนซีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเทรนด์เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่มีสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซีใหม่ๆ เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง

ส่วนทางการก็อาจต้องเพิ่มแหล่งการเรียนรู้ที่จะเป็นสื่อกลางในการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อนักลงทุนกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น เพื่อลดความสูญเสียอันจะเกิดกับนักลงทุนในตลาด โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือนักลงทุนมือใหม่ที่มุ่งหวังผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับสูง ท่ามกลางอัตราผลดอกเบี้ย และอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ ที่จะยังอยู่ในระดับต่ำอย่างน้อยในอีก 1-2 ปีข้างหน้าตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย

นอกจากนี้ ความรู้ความเข้าใจในสินทรัพย์ดิจิทัล ควบคู่กับความรู้ทางการเงินที่ดีขึ้น ยังน่าจะช่วยปูทางไปสู่การใช้เงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางและนวัตกรรมทางการเงินที่จะตามมาอีกมากในอนาคตด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top