รพ.เพชรบูรณ์ แจงยังไม่มีเรียกค่าไถ่จากข้อมูลถูกแฮก ยันเป็นฐานข้อมูลทั่วไปไม่กระทบการรักษา

โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ออกหนังสือชี้แจง กรณีเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ว่า โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ได้รับรายงานการประกาศขายข้อมูลของโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ใน Internet ในวันที่ 5 กันยายน 2554 เวลา 13.30 น. ขนาด 3.75 GB จำนวน 16 ล้าน records จากฐานข้อมูลจำนวน 146 ฐานข้อมูลในราคา 500 เหรียญสหรัฐอเมริกา

โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ได้รีบดำเนินการตรวจสอบโดยด่วน โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาภาวะคุกคามทาง Cyber ขึ้นตั้งแต่ 5 กันยายน 2554 เวลา 14.00 น. เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นข้อมูลที่มีการเผยแพร่ใน Internet แสดงข้อมูลทั่วไปของประชาชนที่มารับบริการและเจ้าหน้าที่บางส่วน

ในขั้นต้นทางโรงพยาบาลได้ดำเนินการปิดกั้นการเข้าถึง Internet จากภายนอกตรวจสอบความเสียหายระบบภายในโรงพยาบาลมีการตรวจสอบความปลอดภัยด้านไซเบอร์ตรวจสอบระบบที่ข้อมูลรั่วไม่ให้มีแฮกเกอร์อยู่ในระบบผลการตรวจสอบไม่พบความเสียหายกับระบบปฏิบัติการที่ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วย

จากการตรวจสอบขั้นต้นข้อมูลที่ประกาศขายเป็นข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อประชาชนที่มารับบริการโรงพยาบาลชื่อแพทย์ที่ดูแลและตารางเวรแพทย์ข้อมูลสัญญาณชีพวันเวลาที่มารับบริการสิทธิการรักษาเลขประจำตัวผู้ป่วยทั้งหมดไม่ใช่ฐานข้อมูลการรักษาไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการวินิจฉัยและรักษาโรคเป็นข้อมูลทั่วไปที่ไม่มีผลกระทบต่อการดูแลรักษา ได้แก่

  • ข้อมูลรายชื่อเวชระเบียนผู้ป่วยใน 10,095 รายใช้ในการตรวจสอบระบบเวชระเบียน (ไม่มีรายละเอียดการดูแลรักษา)
  • ข้อมูลรายชื่อผู้ป่วยนอกที่นัดรับการรักษา 7,000 ราย
  • ข้อมูลตารางเวรแพทย์มีเลข 13 หลักของแพทย์ผู้รักษา 39 รายเพื่อใช้ในการเข้าถึงฐานข้อมูล
  • ข้อมูลรายชื่อผู้ป่วยในการคำนวณค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด 692 ราย
  • ข้อมูลผู้ป่วยโรงพยาบาลสนาม 795 ราย

ทั้งนี้ในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นโรงพยาบาลได้ประเมินความเสียหายตรวจสอบความเสี่ยงและความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์ทั้งหมดมีการสำรองข้อมูลทั้งหมดทั้งนี้โรงพยาบาลมีระบบสำรองข้อมูลทุก 1 ชั่วโมงเป็นปกติอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลได้หารือผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกระทรวงสาธารณสุขและขอรับคำปรึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ต้นเพื่อให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาในการปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลให้ปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจในการให้บริการต่อไปทางโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ขอยืนยันว่าระบบข้อมูลทางด้านการรักษาพยาบาลยังสามารถใช้งานได้ปกติ

ทางคณะกรรมการแก้ไขปัญหาภาวะคุกคามทาง Cyber ได้ดำเนินการด้านกฎหมายและรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับ

ขณะนี้ยังไม่มีข้อเรียกร้องทางการเงินจากโรงพยาบาลใด ๆ ทั้งสิ้นนอกจากการประกาศขายทาง Internet ขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการรับบริการโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ทางโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ขออภัยในปัญหาที่เกิดขึ้นและจะพัฒนาระบบสารสนเทศให้ปลอดภัยเพื่อคุณภาพในการรักษาพยาบาลให้ดีขึ้น

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รับรายงานว่า รพ.เพชรบูรณ์ ถูกผู้ไม่ประสงค์ดีแฮกข้อมูลผู้ป่วยไปโพสต์ขายบนเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 จึงร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเมินความเสียหายทันที พบว่าไม่ได้เป็นการแฮกฐานข้อมูลหลักที่ใช้ในการให้บริการและมีประวัติการรักษาผู้ป่วย แต่เป็นฐานข้อมูลที่โรงพยาบาลเขียนขึ้นบนโปรแกรมที่เปิดให้ใช้ฟรี (Open source) สำหรับใช้ในการทำงานของเจ้าหน้าที่ เช่น การสรุปข้อมูลผู้ป่วย การนัดหมายผู้ป่วย ตารางเวรแพทย์ และการคำนวณรายจ่ายในการผ่าตัดของกลุ่มศัลยกรรมกระดูกและข้อ เป็นต้น

“ข้อมูลที่ถูกแฮกส่วนใหญ่เป็นบางไฟล์ที่มีชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ สิทธิการรักษา แต่ไม่ได้มีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลการตรวจรักษา โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ยังสามารถให้การดูแลคนไข้ได้ปกติ โดยข้อมูลที่ถูกแฮกมีประมาณ 18,000 กว่าราย ไม่ใช่ 16 ล้านราย เนื่องจากเพชรบูรณ์มีประชากรไม่ถึงล้านคน ซึ่งกรณีนี้ต่างจาก รพ.สระบุรี ที่ถูกแฮกระบบฐานข้อมูลหลักจนทำให้จุดบริการเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวมีความผิดตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 7 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ กฏหมายอื่น ที่เกี่ยวข้อง”

นพ.ธงชัย กล่าว

โดยขณะนี้ได้แจ้งความแล้ว และกระทรวงดิจิทัลฯ กำลังติดตามตรวจสอบหาแฮกเกอร์ ซึ่งไม่ได้เจาะจงข้อมูลสุขภาพเป็นพิเศษ แต่จะตระเวนหาระบบที่มีจุดอ่อนเพื่อโจรกรรมข้อมูล จึงต้องกำชับบุคลากรให้เข้มงวดการปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยทางไซเบอร์ เช่น เปลี่ยนยูสเซอร์เนมและพาสเวิร์ดเป็นประจำ ทั้งนี้ จะจัดตั้งหน่วยงานเฝ้าระวังความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้านสุขภาพและหน่วยตอบโต้เหตุการณ์ฉุกเฉิน ประสานการทำงานกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

ด้านนพ.อนันต์ กนกศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า เซิร์ฟเวอร์ที่โรงพยาบาลเขียนโปรแกรมสำหรับการทำงานภายใน จำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต อาจถูกผู้ไม่ประสงค์ดีบุกรุกได้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบการข้ามไปยังเซิร์ฟเวอร์อื่น และรพ.เพชรบูรณ์ได้ตัดการเชื่อมต่อจากภายนอกทั้งหมดเพื่อป้องกันการบุกรุก ส่วนการป้องกันในอนาคต โรงพยาบาลต่างๆ ต้องทบทวนมาตรการ ความเสี่ยง และประเมินเรื่องสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อจัดการให้ระบบมีความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น เข้มงวดผู้ที่ใช้งานระบบให้ทำตามมาตรการความปลอดภัยทางไซเบอร์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top