โพลหอการค้าฯ เผยปชช.-ภาคธุรกิจหนุนรบ.คลายล็อก เพิ่มมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ถึงผลกระทบจากการล็อกดาวน์ในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. 64 พบว่า ในส่วนของภาคประชาชน ได้รับผลกระทบในทางลบมากถึง 72.7% เนื่องจากการล็อกดาวน์ทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น รายจ่ายต่อเดือนเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ลดลง หนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบเพิ่มขึ้น

สำหรับผลกระทบต่อการจ้างงานนั้น ทำให้ประชาชนมีทั้งถูกลดชั่วโมงการทำงานลง, ถูกเลิกจ้างชั่วคราว และถูกเลิกจ้างถาวร ซึ่งในกลุ่มนี้มีรวมกันถึง 57.7% ขณะที่อีก 41.6% ยังมีงานทำปกติ โดยเมื่อถามว่าต้องการให้ภาครัฐคลายล็อกดาวน์ เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้ หรือยังต้องการให้ล็อกดาวน์ต่อไปนั้น พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 59.2% เลือกให้เปิดดำเนินการธุรกิจ/เศรษฐกิจ ส่วนอีก 30.1% เลือกให้ยังล็อกดาวน์ต่อ เพื่อลดการติดเชื้อโควิด-19

ส่วนมาตรการของภาครัฐในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนนั้น ส่วนใหญ่มองว่ายังน้อยเกินไป และแสดงความพึงพอใจในระดับปานกลางเท่านั้น และเห็นว่าช่วงเวลาเหมาะสมที่รัฐบาลควรผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้ธุรกิจกลับมาดำเนินได้ปกติ เหมือนกับช่วงก่อนโควิด คือ ตั้งแต่เดือนพ.ย.64

สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล คือ 1.เพิ่มมาตรการช่วยเหลือและเยียวยา ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มทุกพื้นที่ 2.ภาครัฐควรทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 3. ควรปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดให้ได้ดีกว่านี้ และกำหนดแผนพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่สามารถนำมาปรับใช้ได้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน

ขณะที่ผลการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ ถึงผลกระทบต่อการล็อกดาวน์ ซึ่งเป็นการสำรวจจากหอการค้าจังหวัดนั้น พบว่า ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ถึง 74.16% ตอบว่าได้รับผลกระทบมาก ซึ่งมีทั้งในแง่ของยอดขายลดลง สภาพคล่องลดลง ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้น หนี้สินเพิ่มขึ้น เลิกจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น และปิดกิจการเพิ่มขึ้น

โดยภาคธุรกิจถึง 77.32% สนับสนุนให้รัฐบาลคลายล็อกดาวน์เพื่อเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ในขณะที่อีก 14.43% ยังเห็นว่าควรล็อกดาวน์ต่อไปก่อน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจส่วนใหญ่เชื่อว่าธุรกิจของจังหวัดจะกลับมาเปิดดำเนินการได้ไม่ถึง 20% เท่านั้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนมีโควิด และเห็นว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมที่รัฐจะผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการได้ปกติ คือ เดือนต.ค.เป็นต้นไป

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ เพื่อช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจไทยกลับมาเป็นปกติได้ คือ 1. การจัดหาวัคซีนให้เพียงพอเพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนในประเทศให้เร็วและทั่วถึงที่สุด 2. กำหนดมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 3. ผ่อนคลายมาตรการการกักกันโรค (Lockdown) เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top