แบงก์พาณิชย์เร่งปรับตัวในยุคการเงินดิจิทัล ตอบโจทย์ลูกค้า-ลดความเหลื่อมล้ำ

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยได้วางวิสัยทัศน์และกระบวนการทำงานของธนาคารพาณิชย์ในช่วง 3 ปี เพื่อทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์สามารถเติบโตอย่างยืน มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพภายใต้ภาวะความท้าทาย และเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีการวางแนวทางการผลักดันความยั่งยืนใน 4 เรื่อง ได้แก่

1. การเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพให้กับการแข่งขันประเทศ โดยการสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มให้เกิดความเชื่อมโยงกัน ไม่เกิดความซ้ำซ้อน และสามารถต่อยอดได้ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งได้เริ่มมีการนำระบบต่าง ๆ ที่ให้บริการแล้วมาต่อยอดการให้บริการ เช่น ระบบพร้อมเพย์, การพัฒนาระบบเช็คเคลียร์ริ่ง, โครงการไทยแลนด์สมาร์ทอินฟราสตรัคเจอร์, อี-อินวอยซ์, อี-ซิกเนเจอร์ รวมถึงการพัฒนาระบบ Open Bangking เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นในระบบผู้ประกอบการด้านการเงินในประเทศ ทั้งธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์ อีกทั้งยังต้องสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการจากการสร้างความปลอดภัยในการใช้บริการไซเบอร์

2. การผลักดันระบบการเงินไทยให้เป็นผู้นำในภูมิภาค CLMV ที่มีการค้าร่วมกันเป็นจำนวนมาก พัฒนาระบบ Inter-Bank ที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การชำระเงินเกิดความรวดเร็ว และการนำเงินในรูปแบบดิจิทัลที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พัฒนาขึ้น คือ CBDC มาใช้เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรม ซึ่งจะเป็นการสร้างระบบอย่างไม่มีอุปสรรคและไร้รอยต่อ สร้างการต่อยอดสู่การก้าวสู่ระบบ e-Money

3. การสร้างความยั่งยืน โดยมีตัววัด ระยะเวลาในการดำเนินงานตามแผนที่แน่นอน พร้อมกับการทำบริการการเงินให้เกิดความเท่าเทียมกัน ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน การให้ความรู้ รวมถึงการนำระบบพิจารณาสินเชื่อที่มองไปถึงอนาคตมากกว่ารูปแบบเดิมที่เน้นการมองไปที่อดีต จากการนำพฤติกรรมการใช้น้ำ-ใช้ไฟมาประกอบ ทำให้เกิดการพิจารณาหนี้สินให้ครอบคลุม สามารถแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จ ไม่เกิดช่องว่างทางกฎระเบียบ มีการรวมหนี้ประชาชน มีประสิทธิผลและเกิดความเป็นธรรมกับลูกหนี้

4. การให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคลในองค์กรของธนาคารพาณิชย์ การดูแลบุคลากรสถาบันการเงินให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพิ่มความสามารถให้กับบุคลากรของธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนภายใต้ Thailand Next

“การเดินหน้าตามแผนของสมาคมธนาคารไทยระยะ 3 ปี จะเป็นการเปลี่ยนจุดยืนประเทศ จากคนที่วิ่งตามเป็นคนวิ่งนำ สามารถเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศ และต่อยอด S Curve ใหม่ให้กับระบบธนาคารพาณิชย์และประเทศ มีการกระจายความเท่าเทียมมากขึ้น เพื่อสร้างศักยภาพในอนาคตที่ยั่งยืน มีการยึดหลัก ESG มาใช้ ซึ่งเป็นแผนที่สมาคมธนาคารไทยได้เรียนให้กับแบงก์ชาติไปแล้ว”

นายผยง กล่าว

สำหรับในปัจจุบันที่ประชาชนมีการใช้ระบบดิจิทัลแบงก์กิ้งมากขึ้น หลังจากที่โควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการทำธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 3-4 เดือน ซึ่งเร็วกว่าในอดีตที่กว่าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้าธนาคารพาณิชย์ให้หันมาทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลแบงก์กิ้งได้ จะใช้ระยะเวลาที่นานถึง 3-4 ปี และการที่ประชาชนหันมาใช้บริการดิจิทัลแบงก์กิ้งมากขึ้น ส่งผลให้สมาคมธนาคารไทยได้ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถรองรับปริมาณการทำธุรกรรมที่เข้ามาอย่างมาก จากการขยายคอขวดในการทำธุรกรรมให้รองรับจำนวนการใช้งานได้มากขึ้น และสร้างความมั่นใจในความมีเสถียรภาพของการใช้งานระบบดิจิทัลแบงก์กิ้งของธนาคาร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าของธนาคารพาณิชย์

ในส่วนของธนาคารกรุงไทย (KTB) การเปลี่ยนแปลงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่เพียงแค่การตอบโจทย์ลูกค้าและยึดลูกค้าจุดศูนย์กลางเท่านั้น แต่ธนาคารกรุงไทยมองไปถึงการทำให้ธนาคารกรุงไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของลูกค้าและทุกคน และให้บริการโดยที่ไม่มีวันหยุด จากการที่นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เต็มศักยภาพ สามารถนำข้อมูลที่ธนาคารมีมาพัฒนาการบริการ ไม่ให้เกิดการสะดุด มีความฉลาด ถูกจริต ถูกที่ถูกเวลา พร้อมกับการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรของของธนาคารกรุงไทยให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง

“องค์กรใหญ่ การปรับตัวที่ว่องไวอาจจะค่อนข้างช้า เพราะการวิ่งในสปีดแบบเดิม แต่เราเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหญ่จะใช้เวลาในการเลี้ยวหรือแล่นที่นานกว่า เราจึงต้องมีการทำคู่ขนานแบบเรือบรรทุกเครื่องบินคู่กับสปีดโบ๊ท เพื่อให้สามารถเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย และการมีพันธมิตร เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้”

นายผยง กล่าว

ด้านนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของธนาคารพาณิชย์ไทยมาจากปัจจัย 4 ด้าน ได้แก่

1. เศรษฐกิจ โดยในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งการทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ถือเป็นธุรกิจที่รับความเสี่ยง โดยในอดีตมองว่าการรับความเสี่ยงจะสามารถตามมาด้วยผลตอบแทน แต่ผลกระทบของโควิดทำให้จุดที่เหมาะสมระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนเปลี่ยนไป ทำให้โครงสร้างต่าง ๆ ของธนาคารธนาคารพาณิชย์ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปให้เหมาะสมกับภาวะที่เกิดขึ้น

2. เทคโนโลยี ที่เข้ามาช่วยสร้างรูปแบบใหม่ในการสร้างการเข้าถึง เกิดความสามารถในการปรับเปลี่ยนที่รวดเร็ว มีการสร้างรูปแบบต้นทุนโครงสร้างต่าง ๆ ของผู้เล่นในตลาด สามารถเข้ามาสร้างผลตอบแทนใหม่ ๆ ได้ และทำให้ธนาคารสามารถทราบถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม ทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถทำได้มากกว่าสิ่งที่ธนาคารทำได้ในปัจจุบัน

3.พฤติกรรมลูกค้า ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามความคาดหวังลูกค้า ซึ่งโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของคนหันมาเข้าสู่ระบบดิจิทัลและระบบออนไลน์ที่รวดเร็วมากขึ้น ทำให้คนเกิดความเข้าใจและรับรู้การใช้งานระบบดิจิทัลแบงก์กิ้งมากขึ้น ซึ่งเร่งการเปลี่ยนผ่านของระบบธนาคารในระยะต่อไป

4. กฎระเบียบ ที่มีผลต่อภาพรวมของระบบธนาคาร ซึ่งมองว่าผู้คุมกฎไม่สามารถที่หยุดยั้งกระแสและความต้องการใหม่ ๆ ที่เข้ามาได้ และในที่สุดผู้คุมกฎจะต้องเปิดรับให้ผู้เล่นรายใหม่ ๆ เข้ามา ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์จะต้องปรับตัวและเกิดความท้าทายมากขึ้น ขณะที่ CBDC ถือเป็นเป็นตัวอย่างที่ดี ที่เปิดกรอบกฎเกณฑ์ของ Digital Asset ที่ต่อยอดจากการนำระบบบล็อกเชนมาใช้ ซึ่งเป็นแนวทางของ ธปท.ที่ไม่ปิดกั้น และเปิดโอกาสให้ให้ Digital Asset เข้ามามีบทบาทส่วนเงินในระบบการเงินไทย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ธนาคารไทยพาณิชย์ทำนั้นเป็นการที่ธนาคารเดินข้ามตัวตนของการดำเนินธุรกิจธนาคารในบางส่วน เพื่อยกระดับให้เกิดการบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้า เพิ่มชีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธนาคารเอง และนำมาผนวกกับบริการเดิมที่ธนาคารมี เพื่อต่อยอดไปสู่การนำเสนอการให้บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างผลตอบแทนใหม่ ๆ ให้กับธนาคาร แม้ว่าการที่นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้จะยังมีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่ถือเป็นการก้าวข้ามข้อจำกัดของธนาคารไปสู่โลกใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ที่จะทำให้ธนาคารสามารถยังเป็นผู้ชนะในตลาดได้

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนในการที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมความเท่าเทียมให้กับการกระจายการเข้าถึงระบบการเงินของคนในประเทศ พร้อมกับการสร้างความมั่งคั่งให้กับคนในประเทศ ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจไทย

โดยที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยถือว่ายังมีความไม่สมดุล เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศถูกผลักดันด้วยบริษัทขนาดใหญ่ ในขณะที่การจ้างงานเกิดขึ้นจากธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดเล็ก และจากการระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ภาคเอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดเล็กได้รับผลกระทบอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน และรายได้ของประชาชนที่ลดลง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำยิ่งขึ้น อีกทั้งหนี้สินครัวเรือนส่วนใหญ่ของคนประเทศ ไม่ได้เป็นการกู้ยืมเพื่อนำไปใช้ในการสร้างรายได้ หรือใช้จ่ายสินค้าจำเป็นเป็นหลัก ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินที่มากขึ้นในปัจจุบัน

สำหรับธนาคารพาณิชย์ มีความจำเป็นที่ต้องมีการเปลี่ยนกระบวนการในการทำงาน และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เข้ามา เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเข้ามาช่วยเหลือคนที่ตัวเล็กให้สามารถเข้าถึงระบบการเงินในประเทศได้ โดยส่วนหนึ่งนอกจากมาตรการของ ธปท.แล้วนั้น การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงจุดกับความต้องการของลุกค้า และสามารถช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกค้าได้ ช่วยให้ลูกค้าในหลายระดับสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารที่มีต้นทุนที่ลดลง ซึ่งจะเป็นการเข้ามาช่วยกระจายความเท่าเทียมให้กับระบบการเงินของไทย

ขณะเดียวกันเทคโนโลยีที่นำมาใช้สามารถต่อยอดไปถึงการเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการความมั่งคั่งให้ลูกค้าของธนาคารได้ สร้างพฤติกรรมการออม และมีการลงทุนต่างๆ เพื่อให้เงินสามารถงอกเงยขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นกว่าในอดีต และเป็นสร้างความยั่งยืนให้กับคนในประเทศ และส่งผลบวกต่อการที่ธนาคารจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

นายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกรไลน์ จำกัด กล่าวในงานเสวนา “อนาคตโลกการเงิน” ว่า การเงินในโลกดิจิทัลจะต้องทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงง่าย และเข้าใจง่าย โดยผู้เล่นหรือผู้ให้บริการจำเป็นต้องทำให้บริการทางการเงินสามารถเข้าไปอยู่ในทุกช่วงการใช้ชีวิตประจำวันได้มากที่สุด อย่างไรก็ดี ยังมีความท้าทายที่ต้องยอมรับว่าในเรื่องของการเงินนั้น อาจไม่ได้เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน ดังนั้นการเงินในยุคดิจิทัลนอกจากจะต้องทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่ายแล้ว ยังต้องทำให้มีความเข้าใจได้ง่ายด้วย

ในอีกด้าน โลกของดิจิทัลทำให้ธนาคารสามารถเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าได้ง่ายขึ้นเช่นกัน ซึ่งการเข้าถึงลูกค้าที่สะดวกขึ้น ก็เป็นประโยชน์ในการช่วยลดค่าใช้จ่ายลง ทำให้ธนาคารสามารถออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้วยข้อเสนอหรือโปรโมชั่นที่ดีให้แก่ลูกค้า เนื่องจากมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง

พร้อมมองว่า พลังของโซเชียลที่มีมากขึ้น ก็จะยิ่งช่วยเสริมให้ Social Banking มีพลังมากขึ้นด้วยเช่นกัน โลกในทุกวันนี้ เป็นโลกของข้อมูลข่าวสาร การมีข้อมูลที่มากย่อมทำให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มาก สามารถช่วยให้ธนาคารได้สร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุดตรงเวลายิ่งขึ้น

“การเก็บข้อมูลที่มาก ทำให้รู้จักลูกค้าได้มากขึ้น สามารถนำมาออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน เช่น การปล่อยสินเชื่อ”

นายธนากล่าว

ด้านนายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า การเงินในยุคดิจิทัลอาจทำให้เห็นการไหลของเงินจากธนาคารพาณิชย์ไปสู่ Non bank มากขึ้น เนื่องจากด้วยอัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำในปัจจุบัน แม้จะมีข้อดีจากด้านความมั่นคงปลอดภัยในการฝากเงินไว้ที่ธนาคารพาณิชย์ แต่จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันเงินเริ่มไหลมาสู่ Environment ต่างๆ มากขึ้น เพราะมีการเสนอผลตอบแทน หรือสิทธิพิเศษที่จูงใจมากกว่าการฝากเงินในบัญชี

“เราจะเห็นการเติบโตของ e money ถึง 500-600% บ้างก็ย้ายจากบัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต มาอยู่ใน e money เพราะมี incentive ให้กับผู้บริโภคมากกว่า…เราจะเริ่มเห็นการแข่งขันจาก non bank มากขึ้น มีการ move เงินไป non bank มากขึ้น…คนที่มีฐานข้อมูลลูกค้าแบบ inside จะได้เปรียบ การแข่งขันจะสนุกขึ้นระหว่างวงใน กับวงนอก”

นายฐากรระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ย. 64)

Tags: , , , , , , , , , , , , , ,
Back to Top