คลัง-ตลท.-ก.ล.ต.ร่วมหนุน SME-Startup ระดมทุนผ่าน Live Exchange สิ้นปี 64

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในงาน LiVE Demo Day: The New Road to Capital Market ว่า ตลท.พัฒนาระบบกระดานสำหรับการซื้อขายหุ้น SME และ Startup ที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คือ Live Exchange โดยอยู่ระหว่างร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ 25 แห่งเข้ามาร่วมพัฒนาระบบ คาดว่าจะเปิดให้ซื้อ-ขายกระดาน Live Exchange ภายในสิ้นปี 64

ตลท.มุ่งพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน เปิดโอกาสในการเข้ามาระดมทุนเพื่อนำเงินไปต่อยอดและสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SME และ Startup ที่ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ทำให้เกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมาก จึงจัดตั้ง Live Platform ขึ้นมาจากความร่วมมือกับองค์กรและหน่วยงานต่างๆที่เข้ามาร่วมกันผลักดันและเปิดโอกาสการ่วมสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ

การพัฒนา Live Platform รับเงินทุนมาจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ในการพัฒนาแพลตฟอร์มดังกล่าว อบรมให้ความรู้ในหลักสูตรความรู้ให้กับผู้ประกอบการในรูปแบบห้องเรียนออนไลน์ ครอบคลุมความรู้และทักษะด้านการทำธุรกิจ อาทิ การจัดการธุรกิจและนวัตกรรม การจัดการการเงินและการระดมทุน การจัดการด้านบัญชี เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมทั้งคลังความรู้ออนไลน์ในหลายรูปแบบ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ส่งเสริม SMEs / Startups ยกระดับขีดความสามารถและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยพิจารณาการให้ความช่วยเหลือเยียวยาทั้งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไป

โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่รายได้ของประเทศด้านการท่องเที่ยวหายไปมากจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เคยมีถึง 40 ล้านคนส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจบริการต่างๆ ที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs/Start up ที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ของธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึง SME ที่ประกอบอาชีพอิสระ

รัฐบาลได้พยายามเข้าไปช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยได้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ SME ที่มีลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ซึ่งเป็นแรงงานในระบบประกันสังคม ตลอดจนการช่วยเหลือเยียวยาแก่แรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมให้เข้ามาลงทะเบียนเพื่อรับความช่วยเหลือได้

“ยอมรับว่าผลกระทบกับ SME รอบนี้ ค่อนข้างจะสาหัส หลายร้าน หลายบริษัทต้องปิดตัว หรือไปกู้หนี้ยืมสิน เข้ามาตรการพักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้…มาตรการสินเชื้อฟื้นฟู ของธปท.เบิกจ่ายไปแล้วเกือบแสนล้านบาท มี SME เข้ามา 3 หมื่นกว่าราย ซึ่งยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับ SME ทั้งประเทศที่มีอยู่กว่า 3 ล้านราย ส่วนมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ มีเข้ามาแล้ว 74 ราย มูลค่ารับโอนทรัพย์สิน 11,000 ล้านบาท”

รมว.คลังกล่าวในงาน LiVE Demo Day: The New Road to Capital Market

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2/64 ที่ขยายตัวได้ 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากเทียบรายไตรมาส จะพบว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ แม้จะยังไม่ฟื้นตัวได้แข็งแรงมากนักก็ตาม แต่ก็เริ่มเห็นแนวโน้มที่จะกลับมาดีขึ้น อย่างไรก็ดี เชื่อว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิดจะยังอยู่กับประเทศไทยต่อไปอีก เพียงแต่จะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วย

“การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะสร้างสมดุลระหว่างการดูแลด้านสาธารณสุขกับด้านเศรษฐกิจ”

รมว.คลัง กล่าว

นายอาคม กล่าวว่า มาตรการของสถาบันการเงินต่างๆ เป็นมาตรการหลักในการให้ความช่วยเหลือแก่ SME แต่ขณะเดียวกัน ตลาดทุนก็ถือว่าเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่บริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่สามารถเข้ามาลงทุนได้ รวมถึงตลาด mai แต่การเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มีกฎกติกาที่เข้มงวด โดยเฉพาะความโปร่งใส ระบบข้อมูลการบันทึกบัญชี ซึ่ง SME บางส่วนยังขาดองค์ความรู้ที่จะเข้าสู่กฎกติกาในการเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้

ทั้ง ตลท.และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีแผนจะให้องค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการเหล่านี้มากขึ้น โดยล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต.ได้มีการแนะนำ Live แพลตฟอร์ม และ Live Exchange ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วย Set up ให้แก่ SME ได้เตรียมตัวก่อนที่จะเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

“จะเป็นช่องทางเชื่อมระหว่างนักลงทุนหรือผู้มีเงินออม เข้ากับผู้ที่ต้องการเงินทุนได้เข้ามาเจอกัน เป็นการแลกเปลี่ยนด้วยว่า SMEs หรือธุรกิจประเภทไหนมีโอกาส และการจะเลือกนำเงินเข้าไปลงทุนกับ SMEs ก็ต้องมีความเสี่ยงน้อยที่สุด…การเปิดแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้นักลงทุนกับผู้ประกอบการได้เจอกัน เป็นเรื่องที่ดี และเพิ่มช่องทาง เพราะบางคนอาจไม่เคยรู้เลย เชื่อว่าสภาพคล่องหรือเงินออมในระบบยังมีเหลือเยอะ แต่จะจัดให้ตรงกับผู้ที่ต้องการใช้เงินได้อย่างไร”

รมว.คลังกล่าว

พร้อมระบุว่า การที่ตลท.ได้ริเริ่มแพลตฟอร์มนี้ขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการระบาดของโควิดในขณะนี้ อาจะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก แต่หากไปทำเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแล้วก็อาจจะสายไป เพราะเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว จะทำให้มีต้นทุนต่างๆ ในการดำเนินงานที่สูงกว่าในช่วงนี้

รมว.คลัง กล่าวว่า การที่ประเทศมีหนี้จากการกู้เงินในจำนวนที่สูงท่ามกลางสถานการณ์ในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องที่แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องกู้เงินเช่นกัน ต้องใช้เครื่องมือทางการคลังให้เป็นประโยชน์ในภาวะที่นโยบายการเงินยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่นัก นอกจากนี้ มองว่าตลาดทุนของไทยยังมีโอกาสดี หุ้นไทยไม่ได้แย่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น จึงยังมองเห็นการฟื้นตัวได้ในอนาคต ขณะเดียวกัน SMEs ที่จะเป็นดาวรุ่งได้ จะต้องคำนึงถึงทิศทางของประเทศว่าจะก้าวไปทางไหน ซึ่งต้องดูแนวนโยบายของรัฐบาลควบคู่ไปด้วย

“ทิศทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคตนั้น ถ้ากู้เยอะ แล้วหนี้ต่อจีดีพีสูงขึ้น แต่หากรายได้ไม่เพิ่ม ก็แน่นอนว่าต้องเป็นหนี้เป็นสิน ดังนั้นความสามารถในการหารายได้ เรามีโอกาส เช่น โครงการในอีอีซี โครงการที่เป็น new S curve ซึ่งทิศทางที่ธุรกิจไทยจะเติบโตไปในอนาคตได้ ต้องคำนึงถึงใน 3 ด้าน คือ ไบโอชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเหล่านี้ จะถือเป็นโอกาสของเราทุกคน”

รมว.คลังระบุ

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ภาคธุรกิจ SME ถือเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทยอยู่มากกว่า 3 ล้านราย มีการจ้างงานทั่วประเทศกว่า 12 ล้านคน ทำให้เกิดการไหลเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก สามารถสร้างจีดีพีได้สูงถึงในสัดส่วน 34% ซึ่งภาคธุรกิจ SME ถือมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะเดียวกันอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโต คือ ตลาดทุน ซึ่งเป็นทั้งแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบกิจการ และเป็นทางเลือกในการลงทุนสำหรับผู้ลงทุน แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตลาดทุนจะเป็นแหล่งเงินระดมทุนให้แก่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัด แต่ในช่วงกลางปี 62 เป็นต้นมาก.ล.ต.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน ได้เริ่มนโยบายที่เข้ามาทำให้ตลาดทุนเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม (Capital Market for All) ไม่ว่าจะเป็นทั้งบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ตลอดจนธุรกิจ SME และ Startup

อีกทั้งยังรวมไปถึงวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เข้าถึงช่องทางการระดมทุนได้มากที่สุด ซึ่งจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดโอกาสภาคธุรกิจทุกภาคส่วนต่อยอดการเติบโตของธุรกิจ

ดังนั้น ตลาดทุนจึงจำเป็นต้องเปิดกว้างให้ผู้ประกอบกิจการทุกขนาดสามารถเข้ามาระดมเงินทุนเพื่อใช้สำหรับธุรกิจของตนเองได้ ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นผลต่อเนื่องถึงข้อจำกัดในการขยายธุรกิจของธุรกิจ SME ในไทยให้อยู่รอดและเติบโตได้ โดยในปี 63 ก.ล.ต. ได้มีการออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการระดมทุน ทั้งการระดมทุนผ่านระบบออนไลน์ในรูปแบปหุ้นคราวด์ฟันดิง (Equity Crowdfunding) หรือหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง (Debt Crowdfunding) หรือการออกหุ้นหรือหุ้นกู้แปลงสภาพ เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนในวงจำกัด (Private Placement)

โดยในปี 64 ธุรกิจที่สนใจเข้ามาระดมทุนผ่านการกระดมทุนรูปแบบหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางก.ล.ต.ได้เห็นเม็ดเงินที่เข้ามาระดมทุนมีการเติบโตขึ้นสูงกว่าปีก่อนมากถึง 7 เท่า หรือมาอยู่ที่ 570 ล้านบาท จากความสนใจของธุรกิจที่เตรียมทยอยระดมทุนเข้ามาจำนวน 75 บริษัท ซึ่งเห็นได้ว่าภาคธุรกิจ SME เริ่มมีการตอบรับรูปแบบการระดมทุนใหม่ๆที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ ก.ล.ต.อออกหลักเกณฑ์มารองรับ ทำให้เป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้เพื่อการต่อยอดการเติบโตของธุรกิจ

ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการสนับสนุนเอสเอ็มอีเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และการที่ตลาดทุนจะต้องเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับกิจการทุกประเภทและทุกขนาด แม้ว่าทางก.ล.ต.จะทราบดีว่า SME และธุรกิจขนาดเล็กอื่นๆอีกมากมายในระบบเศรษฐกิจไทยยังมีอุปสรรค ที่ไม่สามารถระดมทุนจากผู้ลงทุนเป็นวงกว้าง และไม่สามารถนำหุ้นเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดรองได้ ซึ่ง ก.ล.ต. แต่ก.ล.ต.จะพยายามมองหาแนวทางต่างๆเพื่อสนัยบสนุนภาคธุรกิจ SME และธุรกิจขนาดเล็กอื่นๆให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากที่สุด ภายใต้รูปแบบการระดมทุนที่ได้รับการรองรับในปัจจุบัน เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตของธุรกิจ SME และธุรกิจขนาดเล็กอื่นๆ

“เรามองเรื่องนี้ตั้งแต่กลางปี 62 แล้ว ก.ล.ต.จึงนำเรื่องนี้เข้าไปในแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ที่นำการเปิดโอกาสให้ SME และธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาระดมทุนได้ในวงกว้าง ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะต้องมากจากทุกภาคส่วนที่ช่วยกันทั้งก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ ภาครัฐ และภาคธุรกิจเองด้วย ก.ล.ต.พร้อมที่จะเปิดโอกาสให้ SME และธุรกิจเล็กๆในระบบเข้าถึงการระดมทุนได้มากที่สุด เพื่อนำไปต่อยอดการเติบโตของธุรกิจ”

นางสาวรื่นวดี กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top