สธ. เร่งฉีดวัคซีนโควิดกลุ่มเสี่ยงในจ.ภูเก็ต ป้องกันผลกระทบด้านท่องเที่ยว

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งทีมจากกองระบาดวิทยา และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่สนับสนุนการป้องกันควบคุมโรคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต สอบสวนโรค หลังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจังหวัดภูเก็ตเพิ่มขึ้นวันละ 200 กว่าราย เป็นคนในพื้นที่จากการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในพื้นที่ โดยจะเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง 608 (กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และสตรีตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) และแรงงานเคลื่อนย้ายเข้ามาใหม่ ให้ครอบคลุมมากที่สุด และประเมินประสิทธิผลของวัคซีน เพื่อพิจารณาให้เข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยง นอกจากนี้ ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่าได้รับรายงานจากผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 11 ว่าการติดเชื้อในจังหวัดภูเก็ตส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ อยู่ในชุมชนที่มีแรงงานต่างด้าวที่หมุนเวียนเข้ามาทำงาน ส่วนนักท่องเที่ยวที่ติดเชื้อนั้นมาจากการหย่อนมาตรการป้องกันตนเอง จึงขอให้ทุกคนใช้มาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด ทุกที่ ทุกเวลา และเข้ารับการฉีดวัคซีนตามนัดหมาย ส่วนสถานประกอบการ โรงแรม และร้านอาหาร ขอให้เข้มมาตรการ COVID Free Setting ตามมาตรฐานกรมอนามัย เพื่อให้จังหวัดภูเก็ตปลอดภัย มีทรัพยากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ ได้

“นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ ได้สั่งการให้เร่งป้องกันควบคุมโรค จัดสรรวัคซีนเพิ่มให้กลุ่มเสี่ยงกลุ่มใหม่ในพื้นที่ เพื่อให้ทุกคนมีความปลอดภัย ได้ทำงาน มีรายได้ และเดินหน้าเศรษฐกิจไปได้”

นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ขณะที่นักท่องเที่ยวโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์กว่า 30,000 คน พบผู้ติดเชื้อเพียง 89 ราย จากระบบการคัดกรองที่เข้มงวดตั้งแต่ก่อนเข้าประเทศ รวมทั้งได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว และจากการเฝ้าระวังกำกับติดตามระหว่างท่องเที่ยวในจังหวัด

ด้านนพ.พิทักษ์พล บุญยมาลิก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 11 กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อที่พบส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียวกว่า 85% ทั้งนี้ได้มีการส่งทีมปฏิบัติการเชิงรุก (CCRT) ลงพื้นที่ชุมชนทั่วทั้งภูเก็ต เพื่อค้นหาเชิงรุกด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) และมีระบบคัดกรองผู้ติดเชื้อเข้าระบบการรักษา และให้ยาทันที โดยกลุ่มสีเขียวจะเข้ารักษาใน Community Isolation (CI) หรือ Home Isolation (HI) สำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงจะส่งเข้าโรงพยาบาล

นอกจากนี้มีการจัดสรรให้มีการฉีดวัคซีนกับกลุ่ม 608 และกลุ่มเสี่ยง และระดมบุคลากรจังหวัดใกล้เคียงมาช่วยลงพื้นที่ในคลัสเตอร์ที่ยังมีผู้ป่วยติดค้างในชุมชน พร้อมทั้งจัดตั้ง “คลินิกอุ่นใจ” ที่ศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ ให้บริการในการตรวจยืนยัน ATK ด้วยตนเองได้ โดยหากมีผลบวกสามารถเข้าระบบการรักษา ที่มีเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ และมีศูนย์ปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือจำนวน 20 คู่สาย ให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการดังกล่าวจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ย. 64)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top