ศบค. พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 14,555 ราย ATK 1,630 ตาย 171 ราย

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,555 ราย ประกอบด้วย

  • ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 12,600 ราย
  • จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 1,156 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 790 ราย
  • ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 9 ราย
  • ส่วนผู้ติดเชื้อเข้าข่าย ATK 1,630 ราย
  • เสียชีวิต 171 ราย

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 1,448,792 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 13,691 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 15,124 ราย

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า นอกจากตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตแล้ว สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญ คือ ยอดผู้ที่มีอาการหนัก (ปอดอักเสบ) และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่ง 2 ตัวเลขดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญ โดยผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบปัจจุบันตัวเลขตั้งแต่ 1 ก.ย-17 ก.ย. ทิศทางค่อนข้างลดลงเป็นไปอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ รวมทั้งในกทม.แต่ต้องดูให้สอดคล้องกับปริมาณเตียง และบุคลากรสาธารณสุขที่สามารถรองรับได้

ทั้งนี้ หากดูอัตราพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มที่ได้รับการตรวจด้วยวิธี PCR จะพบการติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 18-19% ถ้านับคนที่เดินทางเข้าไปรับการตรวจที่โรงพยาบาล (Walk in หรือ PUI) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีไข้และมีอาการในระบบหายใจ อัตราการพบผู้ติดเชื้อยังอยู่ที่ 20% ขึ้นไป โดยเฉพาะในกทม.ในบางช่วงจะอยู่ที่ 30% ขึ้นไป และภาคใต้ในบางพื้นที่ขึ้นไปถึง 49% จึงต้องเน้นย้ำทุกโรงพยาบาลหากพบผู้ป่วยมีไข้หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ ยังขอให้ดำเนินมาตรการเดิม คือการตรวจโควิด 100% และหากประชาชน พบว่ามีอาการไข้ มีอาการผิดปกติในทางเดินหายใจ ขอให้ให้ข้อมูลกับบุคลากรสาธารณสุขด้วย

สำหรับการตรวจเชิงรุก หรือ ATK ภาพรวมอยู่ที่ 20% โดยในบางพื้นที่ระดมตรวจในพื้นที่คลองเตยตรวจไปประมาณ 3,000 กว่าราย พบผู้ติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 3% ซึ่งแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน แต่ยอดรวมการตรวจ ATK ยังมีอยู่ที่ผลบวกอยู่ที่ 10% โดยรวมทั้งประเทศในบางพื้นที่อาจจะสูงกว่า 10%

เมื่อวานนี้ ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เริ่มแจกชุดตรวจ ATK ให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ซึ่งมีการแจกในกทม.และปริมณฑล ไปแล้วเกิน 1 ล้านชุด โดยจะเน้นประชาชนในกลุ่มเสี่ยงก่อน

อย่างไรก็ตาม มีการร้องเรียนจากประชาชนว่า บางจุดรับไม่สะดวก ไกล พื้นที่ที่อยู่อาศัยและมีความแออัด เพราะเป็นวันแรกที่มีการแจก อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอทั้งหมด โดยจะเร่งกระจายจุดรับบริการให้มากขึ้น จึงขอฝากเน้นย้ำประชาชนว่า ขณะที่ไปรอรับขอให้เน้นย้ำมาตรการตามกระทรวงสาธารณสุขด้วย

สำหรับจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ 2,911 ราย สมุทรปราการ 1,110 ราย ชลบุรี 935 ราย ระยอง 636 ราย ราชบุรี 501 ราย ยะลา 444 ราย สมุทรสาคร 387 ราย ปราจีนบุรี 367 ราย นครศรีธรรมราช 354 ราย และ สระบุรี 329 ราย

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในบางจังหวัดไม่ได้อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม แต่ต้องจับตาเฝ้าระวัง เพราะการรวมกลุ่มต่างๆ มีการรับประทานร่วมกันโดยกรมควบคุมโรคได้รายงานการติดเชื้อในจังหวัดต่างๆ เช่น จ.เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อในกลุ่มจัดงานเลี้ยงวงเหล้า รวมถึงการสังสรรค์ในสถานที่ราชการ เช่น การไฟฟ้า จ.ศรีษะเกษ พบผู้ติดเชื้อในงานเลี้ยงที่มีการดื่มน้ำกระท่อม จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบในคลัสเตอร์โรงเรียนนายสิบ พบผู้ติดเชื้อ 62 ราย จ.ชลบุรี พบใน 2 คลัสเตอร์ ที่ศูนย์ฝึกทหารใหม่ และกำลังพลนายเรือ จ.เพชรบุรี และจ.สระบุรี พบในแคมป์ก่อสร้าง จ.จันทรบุรีพบในคลัสเตอร์ตลาด

ทั้งนี้ ทางศบค.ได้เน้นย้ำไปยังโรงเรียนประจำ รวมไปถึงโรงเรียนทหาร ที่มีหน่วยฝึกต่างๆ ซึ่งครูอาจเป็นผู้ที่เดินทางเข้า-ออก ซึ่งเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำไปยังผู้บัญชาการเหล่าทัพขอให้มีการกวดขันมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ทางศบค.ชุดเล็กมีความเป็นห่วงในช่วงเทศกาลกินเจ ที่เริ่มในวันที่ 4 ต.ค. และอาจมีประชาชนต่างพื้นที่เดินทางเข้าไปร่วมกิจกรรม และขอให้พื้นที่ที่จะมีการจัดงานให้ฟังแนวทางการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขที่มีการแจ้งผ่านไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัด

ส่วนการจัดงานมุทิตาจิตผู้เกษียณอายุราชการ มีการรวมกลุ่มแสดงความยินดี ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และอาจมีโรคประจำตัว แต่ขอความร่วมมือให้จัดงานได้ให้มีการสวมหน้ากาก เว้นระยะ ถ้าเป็นไปได้งดการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 227,826,370 ราย เสียชีวิต 4,683,977 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 42,634,054 ราย อันดับ 2 อินเดีย 33,380,522 ราย อันดับ 3 บราซิล 21,069,017 ราย อันดับ 4 สหราชอาณาจักร 7,339,009 ราย และอันดับ 5 รัสเซีย 7,214,520 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 29

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top