พาณิชย์ แนะผู้ส่งออกเตรียมความพร้อมหลัง EU ปรับปรุงกฎระเบียบ CLP ฉบับใหม่

นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ว่า คณะกรรมาธิการยุโรป ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการปรับปรุงกฎระเบียบว่าด้วยการจำแนก การติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์สารเคมี (CLP) ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ Globally Harmonized System (GHS) ของสหประชาชาติในการปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้ผู้ผลิตสารเคมีต้องแสดงข้อมูลความอันตรายของสารเคมีที่นำเข้ามาในสหภาพยุโรป (EU) โดยกำหนดประเภท รายการและเกณฑ์สำหรับการติดฉลากสารเคมี

อย่างไรก็ดี กฎระเบียบ CLP ยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับการแจ้งข้อมูลความอันตรายของสารเคมี รวมถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้องที่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสารเคมีผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งตัวแทนสมาคมและบริษัทในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า กฎระเบียบดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์บางชนิด และขาดความชัดเจนในประเด็นด้านสุขภาพ เช่น เครื่องสำอาง การจัดการของเสีย การคุ้มครองสุขภาพพลเมืองและเด็ก เป็นต้น

ซึ่งต่อมา ที่ประชุม Competent Authorities for REACH and CLP (CARACAL) ครั้งที่ 40 เห็นชอบให้ปรับปรุงกฎระเบียบ CLP ในประเด็นการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพพลเมือง เพื่อจำกัดการใช้สารเคมี เช่น ไมโครพลาสติก เพื่อลดการปล่อยมลพิษสู่ชุมชน และลดการสัมผัสของผู้บริโภคโดยตรง

นอกจากนี้ การกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ภายใต้กฎระเบียบ CLP จะมีความเข้มงวดมากขึ้น โดยการจัดหมวดหมู่ใหม่เพื่อจำแนกประเภทสารเคมีที่เป็นอันตราย ประกอบด้วย (1) สารรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (2) สารพิษที่ตกค้างยาวนาน (3) สารพิษที่ตกค้างยาวนานมากและสามารถสะสมในสิ่งมีชีวิต (4) เกณฑ์เฉพาะสำหรับสารที่มีความเป็นพิษต่อภูมิคุ้มกันและระบบประสาทซึ่งเป็นพิษต่ออวัยวะและระบบสืบพันธุ์ และ (5) ความเป็นพิษต่อระบบนิเวศน์ทางบก (Terrestrial toxicity)

ทั้งนี้ ล่าสุด คณะกรรมาธิการยุโรป ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงกฎระเบียบ CLP ระหว่างวันที่ 9 สิงหาคม – 15 พฤศจิกายน 2564 และมีแผนที่จะเสนอกฎระเบียบ CLP ที่ได้ปรับปรุงแล้วในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2564

นายธัชชญาน์พล กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันไทยส่งออกสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์ไป EU เฉลี่ยปีละ 8,904 ล้านบาท (ปี 2560-2563) คิดเป็น 1% ของการส่งออกสินค้าทุกประเภทไปยัง EU โดยการส่งออกสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์ไป EU ในปี 2564 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 5,372 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยจึงควรเตรียมความพร้อม เพื่อศึกษาและปฏิบัติตามกฎระเบียบ CLP ฉบับปรับปรุงใหม่นี้ เพื่อให้สามารถส่งออกได้โดยไม่เป็นอุปสรรคทางการค้า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top